บีเอส เอ็กซ์เพรส ปลื้มผลประกอบการปี 64 โต 10% เผยโควิดดันตลาดอีคอมเมิร์ซบูม จับมือไปรษณีย์ไทยช่วยเป็นจุด Drop พร้อมผนึกกำลังพันธมิตรเพิ่มจุดบริการ 4-5 พันแห่ง เล็งเชื่อมโครงข่ายโลจิสติกส์เส้นทางรถไฟไทย–ลาว–จีน และไทย–กัมพูชา
โควิด–น้ำมันแพง กระทบทั้งบวกและลบ
ดร.ชุมพล สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเอส เอ็กซ์เพรส 2020 จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการเติบโตจากผลประกอบการในปี 2564 ว่า สืบเนื่องจากปีที่แล้วเรามีฐานเติบโตทั้งปีที่สูงถึง 40% ส่วนภาพรวมปี 64 นี้ถือว่าดีขึ้นจากปีที่แล้วแม้จะมีผลกระทบจากวิกฤติโควิดและปัญหาน้ำมันแพงก็ตาม ทว่า เราสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีระบบและประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นแรงหนุนให้ผลประกอบการมีอัตราการเติบโตจากปีที่แล้วกว่า 10%
“ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มีทั้งเชิงบวกและลบ เชิงบวกมีส่วนช่วยเป็นแรงส่งให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาใช้บริการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลดีต่อการเติบโตอีคอมเมิร์ซบูมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนั่นก็ทำให้บีเอสฯได้รับอานิสงส์มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ส่วนเชิงลบนั้นต้องยอมรับช่วงที่ระบาดหนักทำให้กระบวนการจัดส่งสินค้าของเราติดขัดพอสมควร ซึ่งนั่นมาจากทั้งมิติการกำชับให้สายส่งของเราต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งการปฏิบัติงานของพนักงานในคลังสินค้าที่ต้องเข้มงวด อีกทั้งเรายังใช้แนวทางการควบคุมโรคโดยหลักการ bubble and sealed เพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งถือว่าโชคดีที่เราสามารถบริหารจัดการและควบคุมได้ค่อนข้างเป็นระบบ ทำให้ไม่มีปัญหาจากผลกระทบโควิด-19ในแง่มุมการติดเชื้อ”
ส่วนผลกระทบจากปัญหาน้ำมันแพงก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจขนส่งต้นทุน 50% มาจากน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่เราใช้การบริการจัดการเส้นทางการขนส่งให้มีระบบและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มความหนาแน่นในการจัดส่งแต่ละครั้งแต่ละเส้นทาง เป็นต้น ซึ่งก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ที่มากขึ้นเพื่อเป็นการชดเชยจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าน้ำมันแพงที่เราต้องจ่ายไปได้
จับมือไปรษณีย์ไทยดันจุด Drop off
ดร.ชุมพล ยังได้ฉายภาพให้เห็นผลตอบรับจาการจับมือกับเบอร์หนึ่งในตลาดอย่างไปรษณีย์ไทยในรูปแบบ BS-Thaipost ว่า จากความร่วมมือเดิมที่ให้ทางไปรษณีย์ไทยเข้ามารับสินค้าที่เราแล้วนำส่งกระจายไปทั่วประเทศในพื้นที่ที่เราเข้าไม่ถึงนั้น แต่เวลานี้เรามีการเพิ่มความร่วมมือเข้ามาอีก โดยให้ทางไปรษณีย์ช่วยเป็นจุด Drop off ให้กับทางบีเอสฯ หมายความว่า ต่อไปลูกค้าของบีเอสฯ ที่ใช้บริการ BS-CLM คือกลุ่มลูกค้าจาก 3 ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน คือ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่เข้าทำงานในไทยแล้วต้องการส่งสินค้ากลับไปประเทศตัวเอง ที่แต่เดิมนอกจากจะไปใช้บริการได้ตามจุดบริการ Drop point ของบีเอสฯ แล้ว เวลานี้ยังสามารถไปใช้บริการได้ที่สาขาไปรษณีย์กว่า 1,400 สาขาทั่วประเทศได้อีกด้วย
“ส่วนพ่อค้าแม้ค้าออนไลน์ทั่วไปที่เป็นลูกค้าบีเอสฯ ที่เคยไปฝากส่งตามจุด Drop point ของบีเอสฯ แล้ว แต่ต้องการไปใช้บริการฝากส่งที่สาขาไปรษณีย์กระจายส่งไปทั่วประเทศนั้น ซึ่งการขยายความร่วมมือการบริการนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการอนุมัติ คาดว่าเดือนมกราคมปีหน้าก็จะพร้อมเปิดให้บริการความร่วมมือนี้ได้ นอกจากนี้แล้ว ทางเรายังได้เข้าไปคุยกับทางผู้บริหารของไปรษณีย์ไทยเพื่อกำหนดแผนและทิศทางความร่วมมืออื่นๆเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างบีเอสฯกับทางไปรษณีย์ในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน”
เล็งเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน
ดร.ชุมพล ยังระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากที่เราได้เปิดบริการเสริม BS-CLM ไปตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมาก็มีทิศทางการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ จากเดิมที่เราเริ่มให้บริการจัดส่งแบบ Door to Door ส่งสินค้ารายชิ้นในจำนวนที่ไม่มาก หรือในรูปแบบ B2C และ C2C แต่ว่าในอนาคตเราก็จะขยายการบริการการขนส่งในรูปแบบที่มีปริมาณมากขึ้นภายใต้การบริการแบบ B2B โดยอาจจะเชื่อมด้วยระบบโลจิสติกส์ไปตามเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน หรือรถไฟไทยไปกัมพูชา เพราะว่าเวลานี้พันธมิตรของเราทั้ง 3 ประเทศกำลังให้ความสำคัญการขนส่งทางรถไฟมากขึ้น ซึ่งไทยเราก็มีพร้อมให้บริการทางรถไฟอยู่แล้ว โดยจะเชื่อมการขนส่งทางรถไฟในไทย
ผนึกพันธมิตร เพิ่มจุดบริการ 4-5 พันแห่ง
ส่วนประเด็นแผนการขยายจุด Drop Point ให้ครบ 1,000 แห่งภายในปีนี้นั้น ณ เวลานี้ก็ใกล้ความจริงแล้ว ซึ่งแต่เดิมเรามีกว่า 600 จุดแล้วเราก็เปิดเพิ่มอีกกว่า 100 จุดรวมแล้วก็กว่า 800 จุด และที่สำคัญเร็วๆนี้เรากำลังจะเซ็น MOU ความร่วมมือกับพันธมิตรอีก 3 ค่ายซึ่งเป็นผู้ให้บริการศูนย์รวบรวมการขนส่งที่มีจุด Drop Point รวมกันประมาณ 3,000 จุด และรวมกับจุด Drop off ของไปรษณีย์ไทยอีก 1,400 แห่งก็จะช่วยทำให้เรามีจุดบริการร่วมทั้งในส่วนของบีเอสฯและพันธมิตรรวมเบ็ดเสร็จแล้วอยู่ที่ 4-5 พันจุดบริการด้วยกัน
“เมื่อเรามีจุดรับบริการสินค้าที่มากขึ้นต่อไปก็จะเข้าสู่โหมดการขยายศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศเพื่อรองรับกับปริมาณสินค้าที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น โดยเรามีแผนจะสร้างศูนย์ฯให้ครอบคลุมทั่วประเทศประมาณ 20 แห่ง ซึ่งความรับผิดชอบแต่ละศูนย์ฯก็จะดูแลพื้นที่บริการใน 3-4 จังหวัด”
ลุยสร้าง Market Place หนุนเติบโตแบบ Win-Win
ดร.ชุมพล ยังเผยถึงกลยุทธ์หนุนการเติบโตอย่างมั่นคงว่า เรามีเป้าหมายตั้งแต่แรกแล้วว่าเราคือผู้ให้บริการในฐานะ Local Brand ต้องการเติบโตอย่างมั่นคง เราจึงขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายทั้งผู้ประกอบการขนส่ง โบรกเกอร์แฟรนไชส์ และศูนย์รวบรวมขนส่งต่างๆ เพื่อยกระดับมาตรฐนการบริการที่มีระบบและได้ประสิทธิภาพ สร้างศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้ลูกค้าคนไทยได้รับการบริการที่ดีกับราคาค่าบริการที่เหมาะสม
“ล่าสุด เราก็ได้ร่วมมือกับทาง DMALLD ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรายใหม่ โดย บีเอสฯ จะเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม รวมถึงการจับมือเพื่อสร้าง Market Place ของเรา ซึ่งเวลานี้ฝ่ายพัฒนาระบบก็สร้างเสร็จแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการคัดเลือกร้านค้าเข้าร่วมคาดว่าในปีหน้าจะเริ่มมีการซื้อขายสินค้าภายใน Market Place ของเราเอง และไม่หยุดอยู่แค่นั้นเราจะขยายการบริการซื้อขายสินค้าใน Market Place ให้ครอบคลุมกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศอีกด้วย เพราะเรามีฐานพันธมิตรที่เป็นกัมพูชา ลาว และเมียนมาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ พอเราสร้าง Market Place เสร็จแล้วเราก็เอาสินค้าของฐานลูกค้าเราเข้าไปขายใน Market Place นอกจากเราจะให้บริการจัดส่งให้แล้วเราก็ยังช่วยเขาขายสินค้าอีกด้วย ช่วยเพิ่มโอกาสให้เขาขายสินค้าได้มากขึ้นเอื้อให้เรามีงานจัดส่งสินค้าเพิ่มไปในตัว ซึ่งเป็นการเติบโตไปด้วยกันทั้ง2ฝ่าย
แนะผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว ผนึกกำลังกันให้เหนียวแน่น
ดร.ชุมพล สรุปปิดท้ายถึงมุมมองต่อการตลาดอีคอมเมิร์ซ-ส่งด่วนไทยในปีหน้าว่า ยังมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่องตามเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ส่วนมิติการแข่งขันถือว่าสูงและเข้มข้นด้วยเช่นกัน สืบเนื่องจากตลาดมีผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ทุนหนาจากต่างประเทศสามารถเพิ่มทุนระดับหมื่นล้านภายในระยะเวลาที่รวดเร็วมาก ซึ่งจุดนี้เองทำให้เราได้ตัดสินใจเบนเข็มธุรกิจไปให้บริการขนส่งด่วนกับสินค้าชิ้นใหญ่เป็นหลักที่ผู้เล่นอื่นๆในตลาดไม่ค่อยทำกันภายใต้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเดินหน้าขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างโอกาสเติบโตไปด้วยกันทั้งเราเองและพันธมิตร
“สำหรับผู้ให้บริการรายเล็กท่ามกลางการแข่งขันที่สูงเช่นนี้ก็ต้องปรับตัวอยู่เสมอไม่เช่นนั้นจะแข่งขันในตลาดลำบาก ต้องศึกษาความเคลื่อนไหวและความเป็นได้ถึงความร่วมมือที่คุ้มทุนกับพันธมิตรรายไหนบ้างสู่จุดความร่วมมือที่สมดุลเกื้อหนุนกันและกัน มองเป้าหมายร่วมกันกับการเติบโตไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงของผู้ประกอบการไทยด้วยกัน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com