ว่ากันว่า ในปี 2035 หลายๆ ประเทศทั่วโลกเตรียมยุติการจำหน่ายเครื่องยนต์สันดาป และให้จำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่เป็นเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% เท่านั้น
ถือเป็นโจทย์ใหญ่ให้ประเทศไทย ต้องปรับตัวตามกระแสโลก แต่จะทำอย่างไรเพื่อให้เครื่องยนต์สันดาปที่มีอยู่ก่อให้เกิดประโยชน์ และไม่สูญเปล่าไปกับกาลเวลา
เหล่าบรรดากูรู (ผู้เชี่ยวชาญ) ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ออกมาประสานเสียงว่า เครื่องยนต์สันดาปยังมีประโยชน์และสามารถดัดแปลงให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ และควรต้องแจ้งเกิดอุตสาหกรรม EV conversion หรือการดัดแปลงรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า
ดังนั้น คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า ทำไม? ประเทศไทยต้องมีอุตสาหกรรม EV conversion ซึ่งผู้ที่จะมาฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นคงหนีไม่พ้น คุณปริพัตร บูรณสิน ที่ปรึกษาสถาบันยานยนต์ไฟฟ้าและนวัตกรรม (Institue for Electric Vehicle Innovation) และที่ ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ชี้ให้เห็นว่า การดัดแปลงรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ยังถือเป็นความหวังการเปลี่ยนผ่านระบบยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมในอนาคต
(ภาพเพื่อประกอบเท่านั้น)
ดัดแปลงเครื่องยนต์ไฟฟ้า ต่างคนต่างทำ!
จะว่าไปแล้ว EV conversion เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ อู่นี้บ้าง อู่นั้นบ้าง สถาบันการศึกษาทำเป็นรถยนต์ต้นแบบบ้าง ทำตามคำสั่งซื้อเป็นรายๆ บ้าง ไม่เป็นอุตสาหกรรม
อีกคำถามว่า แล้วจะทำอย่างไรถึงจะรวบรวม EV conversion ให้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทุกคนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องมาอยู่ในซัพพลายเชนเดียวกัน
คุณปริพัตร กล่าวว่า เมื่อผมนำแนวคิดนี้เข้าไปปรึกษากับ คณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อธิบายถึงแนวคิดการยกระดับอุตสาหกรรมนี้ ก็ได้รับการตอบรับในเชิงบวก ซึ่งหากทำได้สำเร็จ เราจะเป็นประเทศแรกที่ยกระดับ EV conversion เป็นอุตสาหกรรม
ประเทศไทยมีเงื่อนไขที่สามารถทำได้
- เราไม่มีกฎหมายจำกัดอายุการใช้งานรถยนต์ นั่นหมายความว่ารถยนต์ที่ตรวจสภาพผ่านว่า มีความปลอดภัยสามารถต่อทะเบียนได้ จากข้อมูลพบว่า คนไทยใช้รถยนต์เฉลี่ย 20 ปี ถ้าเป็นรถเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก อาจนานถึง 25 ปี
- เรามีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมาก ทำให้รถยนต์เก่าได้รับการซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง
ประเทศอื่นอาจจะมีเงื่อนไขแบบเรา แต่ไม่ครบทุกข้อ เช่น เยอรมนีมีซัพพลายเชนชิ้นส่วน แต่มีกฎหมายจำกัดอายุการใช้งานของรถ ค่าแรงในการดัดแปลงค่อนข้างสูง จึงเกิดขีดจำกัดให้ทำกันมากแต่ไม่เป็นอุตสาหกรรม ขณะที่ประเทศในแอฟริกาหรือเมริกาใต้ ไม่จำกัดอายุการใช้งานของรถ แต่ไม่มีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรองรับ ประเทศไทยจึงเป็นเพียงไม่กี่ประเทศ ที่มี 2 เงื่อนไขในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้ามีอุตสาหกรรม EV conversion เข้ามารองรับ หากจะเปลี่ยนผ่านการใช้รถยนต์น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
(ภาพเพื่อประกอบเท่านั้น)
รถเก่ามีมากกว่า 41 ล้านคัน
นอกจากนั้น ปริมาณรถเก่าในบ้านเรามีจำนวนมาก เรามีรถจดทะเบียนในระบบ 41 ล้านคัน แบ่งเป็นรถมอเตอร์ไซค์ 21 ล้านคัน รถยนต์ 20 ล้านคัน ในจำนวนรถยนต์ 20 ล้านคันก็มีหลายประเภท และอย่างที่กล่าวแล้วว่า คนไทยใช้รถยนต์เฉลี่ยประมาณ 20 ปี เพราะรถยนต์คันหนึ่งราคาแพงสำหรับครัวเรือนไทย การซื้อรถยนต์หนึ่งคันต้องเป็นหนี้ 7 ปี เพราะฉะนั้นรถยนต์จึงเป็นสินทรัพย์มีค่าที่ต้องบำรุงรักษาเพื่อใช้ให้นานที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเครื่องยนต์สึกหรอก็ทำให้เกิดมลภาวะ ปล่อยก๊าซพิษ สิ้นเปลืองน้ำมัน ถ้าไม่จัดการปัญหาเหล่านี้ อนาคตจะกลายเป็นภาระในการลดการปล่อยคาร์บอนตามข้อตกลงประชาคมโลก
จากโจทย์นี้เราเริ่มมองว่าหากจะเปลี่ยนภาระให้กลายเป็นโอกาสได้ไหม? เพราะหนึ่งในจุดเด่นของประเทศไทยคือเราเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แห่งภูมิภาค อันดับ 11 ของโลก แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เรายังมีขีดจำกัดหลายเรื่อง ทั้งเรื่องจำนวนรถเก่าในระบบ กำลังการซื้อ ความพร้อมของประชาชน ความพร้อมด้านเทคโนโลยีของผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งขีดจำกัดพวกนี้เป็นขีดจำกัดในเชิงโครงสร้าง เป็นขีดจำกัดเชิงยุทธศาสตร์ ถ้าเราไม่สามารถจะฝ่าขีดจำกัดพวกนี้ไป เราจะตามกระแสโลกไม่ทัน มีโอกาสจะสูญเสียตำแหน่งยุทธศาสตร์ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งภูมิภาค และ EV conversion เป็นหนึ่งในทางออกของยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่าน
อุตสาหกรรม EV conversion
ก่อนหน้านี้ ผมเคยร่วมกับบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า นำเข้าเทคโนโลยีมาลองดัดแปลงรถยนต์น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เข้าใจว่าการดัดแปลงรถยนต์ 1 คันต้องทำอะไรบ้าง มีเงื่อนไขอย่างไร มีปัญหาตรงไหน ได้ทดลองทำจริงแล้ว แต่ยังไม่เป็นภาพใหญ่ เมื่อผมมีโอกาสเข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร และมองเห็นภาพใหญ่ ก็รู้เลยว่า EV conversion ไม่ใช่โอกาสทางธุรกิจเล็กๆ แต่สามารถยกระดับเป็นอุตสาหกรรมทางเลือกทั้งในทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย
(ภาพเพื่อประกอบเท่านั้น)
แต่ถ้าเราไม่ทำ EV conversion เราจะมีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ
- ถึงแม้ปัจจุบันประชาชนจะเริ่มมีความเชื่อมั่นรถยนต์ไฟฟ้า แต่รถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ประชาชนธรรมดาเข้าไม่ถึง แม้ทุกคนจะรู้ว่าเป็นข้อดีกับสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยอากาศเสีย แต่ราคายังสูงจนจับต้องไม่ได้ ประกอบกับคนไทยส่วนใหญ่ซื้อรถเงินผ่อน เมื่อผ่อนแล้วต้องเป็นหนี้ 7 ปี การที่ประชาชนจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันหนึ่งจึงเกิดภาระทางการเงินก้อนใหญ่
- จากจำนวนรถยนต์ที่มีอยู่ในระบบมากถึง 20 ล้านคัน แสดงให้เห็นว่าแทบทุกบ้านมีรถยนต์ใช้ และใช้นานด้วย เราจึงต้องประคองให้เขาใช้รถให้นานที่สุด เพื่อที่จะไม่เป็นภาระทางการเงิน เมื่อคนส่วนใหญ่มีรถยนต์ใช้อยู่แล้ว และคนจำนวนมากอยู่ในช่วงการผ่อนส่ง การจะไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใหม่อีกคันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
- ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ มีขีดจำกัดในการปรับตัวไปผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งจากการขาดเทคโนโลยีที่จำเป็น การต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรการผลิต ในขณะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ทำให้ระยะเวลาสร้างผลตอบแทนการลงทุนสั้นกว่าธุรกิจเดิมมาก ถึงแม้ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะตระหนักและเข้าใจว่า โอกาสในการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันจะน้อยลงเรื่อยๆ แต่ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนส่วนใหญ่ไม่สามารถบริหารความเสี่ยงในการเข้าสู่ธุรกิจ EV ได้ การมีอุตสาหกรรม EV conversion จะสร้างความต้องการชิ้นส่วนเพื่อให้รถที่จะนำมาดัดแปลงมีสภาพปลอดภัย ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนจึงมีระยะเวลาเพิ่มขึ้นในการปรับตัว
ปัจจุบันเรามีบริษัทชิ้นส่วนยานยนต์ในระบบประมาณ 1,667 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทรับจ้างผลิตภายใต้คำสั่งซื้อของบริษัทผลิตรถยนต์ บริษัทผลิตชิ้นส่วนพวกนี้มีขีดจำกัดในการเปลี่ยนผ่าน เพราะที่ผ่านมาเขาผลิตภายใต้คำสั่งซื้อหรือการออกแบบมาจากบริษัทต่างประเทศ ไม่ได้ทำอาร์แอนด์ดีเอง ไม่ได้ออกแบบเอง ผลิตให้มีคุณภาพดี ข้อเสียน้อย เร็ว ถูก ถ้าเราจะบอกให้บริษัทเหล่านี้เปลี่ยนไปผลิตอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นไฮเทค เขาไม่พร้อม นอกจากนั้นรถยนต์น้ำมันในอดีตมีชิ้นส่วนประมาณ 30,000 ชิ้น ส่วนที่มีชิ้นส่วนมากที่สุดคือระบบเครื่อง ซึ่งพอเป็นรถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ จาก 30,000 ชิ้นเหลือ 3,000 ชิ้น ชิ้นส่วนที่หายไปมากที่สุดคือชิ้นส่วนในระบบเครื่อง คำถามคือเมื่อชิ้นส่วนหายไปมาก ผู้ประกอบการชิ้นส่วนจะปรับตัวอย่างไร
อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนในบ้านเราแต่ละปีมีมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท เราจะรักษาไว้อย่างไร ถ้าเราเปลี่ยนทันที แต่ถ้าทำเป็นยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่าน โดยนำรถเก่าที่มีมาดัดแปลง ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยังมีเวลาปรับตัว เพราะว่าบอดี้ยังเป็นบอดี้เดิม อุปกรณ์ต่างๆยังเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นเรายืดอายุผู้ประกอบการชิ้นส่วนออกไปได้ ทำให้เขามีเวลาเพียงพอในการปรับตัว
- ผู้ประกอบการอู่ซ่อมต่างๆ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่มีระบบที่ต่างไปจากเดิมมาก ผู้ประกอบการอู่ซ่อมยังไม่สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ทัน ถ้าจำนวนรถยนต์ใช้น้ำมันลดลงและรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะสูญเสียอาชีพ เรามีอู่ทั่วประเทศที่จดทะเบียนในระบบของกระทรวงพาณิชย์ประมาณเกือบ 20,000 อู่ แต่ถ้ารวมอู่ที่ไม่ได้จดทะเบียน อู่เล็กอู่น้อยอีกหลายหมื่นอู่ ซึ่งอู่พวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นช่างหม้อน้ำ ช่างไดนาโม ช่างแอร์ ฯลฯ ถ้าเราเปลี่ยนระบบแบบทันทีทันใด จากรถยนต์น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า พวกเขาซ่อมไม่ได้ เพราะว่าเป็นเทคโนโลยีอีกแบบ ถ้าเราเปลี่ยนผ่านแบบไม่มีการจัดการ หรือไม่คิดให้รอบคอบ จะมีกลุ่มบุคคลที่สูญเสียอาชีพถูกทิ้งไว้ข้างหลังจำนวนมาก ดังนั้น การนำรถเก่ามาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เรายังรักษาอาชีพคนอยู่ได้จำนวนมาก เพราะระบบของรถ โช๊ค หม้อน้ำ คลัทช์ เกียร์ ฯลฯ ยังเป็นแบบเดิม นอกจากจะลดภาระฝั่งผู้บริโภคแล้ว ยังรักษาอาชีพ ยืดระยะเวลาของหลายอาชีพออกไปได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นการแก้ปัญหาสังคมด้วย
จาก pain point ดังกล่าว ทำให้เรามองว่าแทนที่จะสนับสนุนให้คนไปซื้อรถใหม่อย่างเดียว นำรถเก่าซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว มาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าดีกว่าไหม ลดภาระ ลดหนี้ครัวเรือน อาจยังมีภาระทางการเงินอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับการซื้อรถใหม่ถือว่าถูกกว่ามาก
นั่นคือคำตอบว่าทำไมเราจึงต้องมีอุตสาหกรรม EV conversion
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com