จากรายงานสถานการณ์โลกต้านความปลอดภัยทางถนนองค์การอนามัยโลก เคยระบุเอาไว้ว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ประกอบด้วย ความผิดพลาดของผู้ใช้ถนน ความบกพร่องของรถ ถนนและสิ่งแวดล้อม โดยอาจเกิดจากปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง หรืออาจเกิดจากปัจจัยร่วมประกอบกันเป็นเหตุการณ์ลูกโซ่  

ประกอบกับ เมื่อย้อนไปเมื่อประมาณ 6 ปีก่อนหน้านี้ มีรายงานจากสถิติคดีจราจรทางบกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากการขนส่งด้วยรถโดยสารและรถบรรทุก มีจำนวนสูงเกือบ 1 หมื่นครั้ง/ปี และจากรายงานสถิติอุบัติเหตุที่เกิดจากรถขนส่ง รวบรวมโดยกรมการขนส่งทางบก พบว่าสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุสันนิษฐานเบื้องต้นว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของอุบัติเหตุที่เกิดจากรถใหญ่เป็นต้นเหตุเพราะยังไม่มีการใช้มีระบบ GPS ติดตามควบคุมคนขับเช่นในปัจจุบัน

ในยุคนั้นมีสาเหตุสำคัญ 3 อันดับแรกที่รถโดยสารและรถบรรทุกเป็นต้นเหตุ ได้แก่ ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หลับใน และขับตามหลังหรือแชงในระยะกระชั้นชิด ส่วนสาเหตุที่เกิดจากรถคู่กรณีเป็นต้นเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับรถเร็ว ตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด และไม่ชำนาญส้นทาง หากผู้ขับรถทุกคน โดยเฉพาะรถโดยสารและรถบรรทุกมีความรู้ที่ถูกต้องและมีทักษะการขับรถเชิงป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงมีจิตสำนึกในการขับรถอย่างปลอดภัยแล้ว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็ควรจะเกิดจากเหตุสุดวิสัยและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริง ๆ เท่านั้น

พฤติกรรมดีขึ้นเพราะมี GPS

ต่อมาภาครัฐได้ออกกฎให้ รถโดยสารและรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป ทุกคันในประเทศไทย มีระบบ GPS Tracking ที่สามารถติดตามและควบคุมพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถได้แบบเรียลไทม์ เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งการควบคุมการใช้งานรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกให้มีความปลอดภัย นับว่าเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่มีส่วนช่วยในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน

โดยนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้โครงการมั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา เพื่อให้ภาครัฐ ผู้ประกอบการขนส่ง และประชาชนสามารถติดตามและควบคุมพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถได้แบบเรียลไทม์ สามารถแสดงข้อมูลการติดตามด้วยความแม่นยำสูง ประกอบด้วย การใช้ความเร็ว, เส้นทางที่ใช้, ระยะทาง, ตำแหน่งพิกัดของรถ, ชั่วโมงการขับรถและเวลาหยุดพัก เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถใช้ระบบนี้เป็นเครื่องมือบริหารการขนส่งทางบกให้เกิดประสิทธิภาพฃ เพราะสามารถกำหนดเส้นทางระยะทางการใช้รถ ติดตามพฤติกรรมการขับรถ และควบคุมการใช้ความเร็วที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนการขนส่ง พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ลดการใช้พลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS กรมการขนส่งทางบกทั้งที่ส่วนกลางและศูนย์ฯ GPS ในแต่ละจังหวัด เป็นหน่วยงานกลางในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดตามรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน ที่กรมการขนส่งทางบกพัฒนาขึ้นได้

ยิ่งขับเร็วยิ่งเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ

แน่นอนว่าความเร็วที่สูงขึ้น จะมีระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้น จากผลการวิจัยพบว่า ในสภาพแวดล้อมและระยะเวลาในการรับรู้ตอบสนองเดียวกัน สำหรับรถยนต์เมื่อเพิ่มความเร็วจาก 32 กม/ชม. เป็น 112 กม/ชม. หรือ 3.5 เท่า จะต้องใช้ระยะทางในการหยุดรถเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า (Directgov, 2008) ขณะเดียวกันความเร็วยังเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุ

จากสถิติในประเทศอังกฤษพบว่า หากรถยนต์ชนคนเดินเท้าที่ความเร็ว 48 กม./ชม. คนเดินเท้าอาจจะเสียชีวิต 20% แต่หากชนที่ความเร็ว 64 กม/ชม. คนเดินเท้าอาจจะเสียชีวิตถึง 90% (Directgov, 2008) และจากการศึกษาในประเทศสวีเดนพบว่าทุกๆ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น 10% จะเพิ่มแรงในการปะทะ 21% และเพิ่มความรุนแรงของอุบัติเหตุถึง ขั้นเสียชีวิตสูงถึง 46% (Vagverket, 2008) จากข้อมูลสถิติทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยืนยันได้ว่า การขับรถเร็วเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก และศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย 2007)

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุ

ในภาพรวมของรถทุกประเกท อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการจราจรทางบกนั้น เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยมี 3 สาเหตุหลักได้แก่ คน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อม โดยสาเหตุมากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากคนหรือผู้ขับขี่ ซึ่งอาจขับรถประมาท ขาดความรู้ ขาดทักษะในเรื่องเทคนิคการขับรถที่ถูกต้ อง รวมถึงขาดจิตสำนึกในการขับขี่อย่างปลอดภัย ยกตัวอย่างสาเหตุสำคัญที่เกิดจากคน ทั้งผู้ขับรถและคนเดินเท้า ดังนี้

1.สาเหตุที่จากผู้ขับรถอาจเกิดจากความบกพร่องทางด้านร่างกาย เช่น ร่างกายอ่อนเพลีย ง่วงนอนหรือหลับใน สุขภาพไม่ดีหรือมีโรคประจำตัว

2.มีความบกพร่องทางด้านจิตใจและอารมณ์  เช่น มีความกลักลุ้มใจ วิตกกังวล อารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว มีความตึงเครียดทางอารมณ์

3.ขาดความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์ในการใช้ถนน เช่น ขาดความรู้เรื่องความเร็วของรถ คาดคะเนความเร็ว หรือกะระยะทางไม่ถูกต้อง ไม่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องลักษณะของยวดยานที่ใช้ขับ ไม่รู้กฎจราจร เป็นต้น

4.ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือข้อบังคับ เช่น ขับรถเร็ว ขับรถตัดหน้ารถอื่นระยะกระชั้นชิด ขับรถล้ำช่องทางเดินรถ ขับรถแซงซ้าย หรือแซงขวาในที่คับขัน ขับรถตามหลังคนอื่นอย่างกระชั้นชิด ฝืนป้ายหยุดขณะออกจากทางร่วม ขับรถย้อนศรทางเดินขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร หยุดรถโดยกระชั้นชิด เป็นต้น

5.ไม่รู้จักป้องกันตนเอง เช่น ขับรถด้วยความประมาท ขาดความระมัดระวัง ความเร่งรีบในการเดินทาง เสพยากระตุ้นประสาท หรือดื่มสุราแล้วขับรถ

เสพแล้วขับ = หายนะ

ยกตัวอย่าง จากกรณีที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ที่มีรถทัวร์โดยสาร เกิดอุบัติเหตุรถทัวร์ พุ่งชนตอม่อสะพานต่างระดับบริเวณทาง หน้าห้างโรบินสันสระบุรี จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานขับรถคนดังกล่าวได้ให้การสารภาพว่าได้เสพยาบ้าก่อนขับรถ โดยตนเริ่มขับจากสถานีขนส่งจังหวัดนครราชสีมาก่อนมาถึงที่เกิดเหตุมีอาการวูบหลับ ซึ่งขณะนั้นรถได้เสียหลักไปชนกับแบริเออร์เกาะกลางถนนแล้วไถลไปชนตอม่อสะพานจนเป็นเหตุให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยใช้ความเร็วขณะเกิดเหตุที่ 89 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น

จากนั้นสำนักงานขนส่งจังหวัดสระบุรี ก็ได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถขับรถสาธารณะ เนื่องจากมีความผิดฐานใช้ยาเสพติดให้โทษ ตามมาตรา 127 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ประกอบกับเป็นการขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเป็นเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก และได้ดำเนินการเพิกถอนรถคันดังกล่าวออกจากใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง

สร้างทัศนคติขับรถปลอดภัยให้ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม หากคนขับรถทุกคนตระหนักถึงการสร้างแนวคิดและทัศนคติการขับรถปลอดภัย เพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ แม้ว่าต้นเหตุแห่งอุบัติเหตุนั้นจะมาจากความผิดพลาดของตนเอง หรือจากความผิดพลาดของผู้อื่น หรือจากสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายไม่เอื้ออำนวยสำหรับการขับขี่ก็ตาม โดยคำนึงถึงเป้าหมายในการขับขี่ เช่น ต้องไม่ให้ไปชนผู้อื่น, ไม่ให้ผู้อื่นมาชนเรา, ไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นชนกัน และต้องถึงที่หมายอย่างปลอดภัย เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

โดย…น้าเช

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

Advertisement