ในห้วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยรอบด้าน ทั้งวิกฤตโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดไปยังทั่วโลก ทำให้บ่งประเทศมีการสั่งปิดสนามบิน และเมื่อไม่นานมานี้ยังมีสงครามครั้งใหม่ระหว่างรัสเซีย กับยูเครน ทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคประชาชนทุกส่วน รวมทั้ง ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะผู้ให้บริการขนส่งทางอากาศและทางทะเล ที่ต้องใช้ระยะเวลาขนส่งยาวนานกว่าเดิม หรือไม่สามารถขนส่งสินค้าข้ามประเทศได้เหมือนเดิม
โลจิสติกส์สบโอกาสทำ Cross Border
ดังนั้น ผู้ประกอบการโลจิสติกส์หลายรายจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเดินหน้าธุรกิจ ด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศแบบ Cross Border มากขึ้น โดยใช้รถบรรทุกและหางพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ที่สั่งทำขึ้นพิเศษ เพื่อใช้ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ รวมถึงการจัดการพิธีการต่างๆ ที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของประเทศระหว่างทางจนถึงปลายทางอย่างเคร่งครัด
แม้ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ Cross Border อาจยังไม่ค่อยได้รับความนิยมจากลูกค้ามากนัก แต่ในปัจจุบันธุรกิจนี้กลับเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับมูลค่าการค้าที่สูงขึ้น ซึ่งหลายบริษัทได้พยายามขยายฐานลูกค้า ให้สามารถรองรับประเภทสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานขนส่งและโลจิสติกส์อยู่แล้ว ที่ทำการปรับกลยุทธ์แตกไลน์มาทำขนส่งข้ามพรมแดน Cross Border ได้เล็งเห็นขอดีของการใช้เวลาการขนส่งที่รวดเร็ว คุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง อีกทั้งช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การขนส่งรูปแบบนี้กลับเติบโตสวนกระแส เพราะไม่ได้มีการปิดเส้นทางเหมือนช่องทางการขนส่งอื่นๆ
เร็วกว่าทะเล ถูกกว่าอากาศ
สำหรับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการส่วนใหญ่จะค้นพบว่า ข้อได้เปรียบในลักษณะของการบริการที่แตกต่างในการหันมาขนส่งสินค้าแบบ Cross Border คือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งลดลง เมื่อเทียบกับการขนส่งทางอากาศ อีกทั้งมีความรวดเร็วมากขึ้น เมื่อเทียบกับการขนส่งทางทะเล ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับการบริหารจัดการต้นทุนและควบคุมระยะเวลาการจัดส่งสินค้า
ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยลดต้นทุนในการจัดส่งพัสดุข้ามประเทศให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันทางธุรกิจให้สูงขึ้นท่ามกลางมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เหตุผลดังกล่าวทำให้บริการขนส่งข้ามแดนเป็นที่นิยมมากขึ้น และเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในปัจจุบัน
อานิสงส์ One Belt One Road จากจีน
จีนในฐานะที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและประเทศมหาอำนาจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ได้ริเริ่มแผน One Belt One Road โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคได้รับประโยชน์จากโครงการ เส้นทางสายไหมใหม่ หรือ One Belt One Road ยิ่งบริษัทไหนมีฐานลูกค้าในประเทศเส้นทางเครือข่ายที่ครอบคลุมสายนี้ อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ลาว เวียดนาม ยิ่งถือเป็นแต้มต่อทางธุรกิจที่สำคัญ เนื่องจากประเทศจีนเป็นตลาดขนส่งขนาดใหญ่มีความต้องการด้านงานโลจิสติกส์สูง
รัฐกับการส่งเสริม Cross Border
ด้านความเคลื่อนไหวในภาครัฐ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ยังมี ศูนย์ให้บริการโลจิสติกส์เพื่อการค้าระหว่าง ที่จัดตั้งขึ้นจากวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย รวมถึงเพื่อสร้างเครือข่ายและขยายพันธมิตรระหว่างผู้ให้บริการ โลจิสติกส์ไทยและผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศกับผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ และเพื่อเป็นศูนย์รวมการให้คำแนะนำด้านโลจิสติกส์จากผู้ชำนาญงานเฉพาะทางด้านโลจิสติกส์ในรูปแบบของศูนย์ให้บริการเคลื่อนที่
โดยศูนย์ให้บริการด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ (Cross Border Logistics Solution Center) เปิดให้บริการด้านคำแนะนำ/ปรึกษาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เช่น การให้บริการด้านเอกสารระเบียบการส่งออก และจัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ( Business Matching) ระหว่างผู้ให้บริการโลจิสติกส์กับผู้ส่งออกและผู้ค้าออนไลน์ของไทย
โดยให้คำปรึกษาด้านการค้า และการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนี้ 1.การขนส่งสินค้าเกษตรระหว่างประเทศ 2.การขนส่งสินค้าอาหารและเกษตรแปรรูประหว่างประเทศ 3.การขนส่งสินค้าทั่วไประหว่างประเทศ 3.การขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ 4.การขนส่งสำหรับ e-commerce ระหว่างประเทศ 5.การให้บริการคลังสินค้าแบบครบวงจร 6.การขนส่งสินค้าภายในประเทศ 7.ปัญหาทั่วไปเกี่ยวกับการส่งออก 8.เอกสารสำหรับการส่งออก และ 9.การตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
- 5 สิ่งสำคัญ ที่ต้องมีเมื่อคิดที่จะทำธุรกิจขนส่ง
- ทำธุรกิจขนส่งในเมืองไทย “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือ “ปลาเร็วกินปลาช้า” ต้องแบบไหนถึงได้เปรียบ
- 5 ข้อดี เมื่อใช้สื่อเฉพาะทางเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้รถเพื่อการพาณิชย์ โลจิสติกส์-ขนส่ง
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com