อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการจราจรทางบกนั้น เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยมี 3 สาเหตุหลักได้แก่ คน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อม โดยสาเหตุมากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากคนหรือผู้ขับขี่ ซึ่งอาจขับรถประมาท ขาดความรู้ ขาดทักษะในเรื่องเทคนิคการขับรถที่ถูกต้อง รวมถึงขาดจิตสำนึกในการขับขี่อย่างปลอดภัย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและคนที่คุณรักการไม่ประมาทหรือเผลอทำพฤติกรรมเสี่ยง จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุไม่คาดคิดบนท้องถนนได้ด้วยตัวคุณเอง

ต่อไปนี้ คือ 10 พฤติกรรมที่ไม่ควรทำระหว่างขับรถขนส่ง

1.ฝ่าฝืนกฎจราจร

ในหลายๆ ครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ มักจะมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ขับรถไม่ยอมปฏิบัติตามกฎจราจร เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด, ขับรถตัดหน้ารถอื่นระยะกระชั้นชิด, ขับรถล้ำช่องทางเดินรถ, ขับรถแซงซ้ายหรือแซงขวาในที่คับขัน ขับรถตามหลังคนอื่นอย่างกระชั้นชิด, ฝ่าไฟแดง และขับรถย้อนศร เป็นต้น ดังนั้น ผู้ขับรถควรปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ

2.เมาแล้วขับ ง่วงแล้วขับ

เมาหรือง่วงแล้วขับ ก็ไม่ต่างกับให้รถวิ่งไปเองโดยไร้คนขับ ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดจากการสาเหตุนี้จะค่อนข้างรุนแรง เพราะส่วนใหญ่คนหลับในหรือเมามักขาดสติ ไม่รู้ตัว ดังนั้น หากต้องเดินทางหลังจากที่มีการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ควรจะใช้บริการรถสาธารณะ หรือโทรศัพท์ให้คนที่ไว้ใจมารับจะเป็นทางออกที่ดีกว่าฝืนขับไปแล้วเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ

3.เล่นโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ

การที่เล่นโทรศัพท์มือถือขณะขับรถนั้น เป็นสาเหตุเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุในอันดับต้นๆ เนื่องจากเราเพ่งสมาธิกับโทรศัพท์มือถือแทนการขับรถ ทำให้ความสามารถในการควบคุมรถหายไป หากมีความจำเป็นแนะนำให้ใช้อุปกรณ์หรือหาที่ปลอดภัยจอดรถให้เรียบร้อยแล้วจึงค่อยเดินทางต่อ นอกจากนี้ ยังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายเพราะ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(9) ระบุว่า ห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอื่นใดในขณะที่รถเคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เช่น สมอลล์ทอล์ค หรือบูลทูธ ทั้งนี้กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 400-1,000 บาท แม้จะติดไฟแดง หรือรถติดก็ตาม ก็ถือว่ามีความผิดทุกกรณี 

4.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย

คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งก่อนออกเดินทาง ช่วยชะลอและรั้งตัวเราไว้ไม่ให้กระเด็นจากเบาะหรือตัวรถ ซึ่งจะช่วยลดแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นกับเราได้เมื่อมีการเบรกแบบกะทันหันหรือมีการเฉี่ยวชน นอกจากนี้ ผลการศึกษาจากงานวิจัยในหลายประเทศต่างยืนยันว่า เข็มขัดนิรภัยมีบทบาทสำคัญในการลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้จริง โดยสามารถลดเสี่ยงจากการบาดเจ็บทั่วไปได้ ร้อยละ 40-50 ลดการบาดเจ็บสาหัสได้ถึงร้อยละ 43-65 และลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 40-60

5.เปลี่ยนเลนกะทันหัน

หลายครั้งผู้ขับรถเปลี่ยนเลนหรือตัดหน้ากระชั้นชิด ส่งผลให้รถคันอื่นๆ ชะลอรถไม่ทันจนทำให้เกิดอุบัติขึ้นในที่สุด ขณะเดียวกันยังพบว่าการเปลี่ยนเลนกะทันหันขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูงจะทำให้รถเสียการควบคุมได้ง่าย และยังรวมไปถึงกรณีหักหลบสิ่งกีดขวางบนท้องถนนหากหักพวงมาลัยด้วยความรวดเร็วและรุนแรงมากเกินไป ก็อาจทำให้รถเสียหลักได้เหมือนกัน ดังนั้น ผู้ขับรถจึงควรศึกษาเส้นทางก่อนเดินทาง และให้สัญญาณไฟล่วงหน้าเมื่อต้องการเปลี่ยนเลน รวมทั้งขับรถด้วยความไม่ประมาท

6.วางขวดน้ำดื่มไม่เป็นที่

หากขวดน้ำดื่มที่บรรจุน้ำอยู่เต็มขวดกลิ้งไปขัดอยู่ใต้แป้นเบรก ทำให้ผู้ขับรถไม่สามารถเหยียบเบรกได้ รวมไปถึงการถอดรองเท้าแต่ไม่เก็บให้เรียบร้อย รองเท้าอาจจะไหลมากองรวมอยู่ที่บริเวณใต้แป้นเบรกได้เช่นกัน  จนเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

7.หันไปหยิบของที่เบาะหลัง

แม้ว่าจะมีความจำเป็นมากเพียงใด ก็ไม่ควรเอื้อมไปหยิบของที่เบาะหลังในขณะที่กำลังขับรถเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ หากต้องหยิบจริงๆ ควรหาที่ปลอดภัยจอดรถแล้วจึงหยิบของ จะปลอดภัยที่สุด นอกจากนี้ หลายคนยังพบว่ามีอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อจากการหันไปหยิบของที่เบาะหลัง เพราะตอนบิดตัวร่างกายจะใช้กล้ามเนื้อช่วงหัวไหล่ผิดทิศผิดมุมเป็นอย่างมากจนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมา

8.เปิดเพลงเสียงดังเกินไปขณะขับรถ

จริงอยู่ที่ว่าการเปิดเพลงในรถอาจช่วยให้ตื่นจากความง่วงซึม ซึ่งไม่ว่าคุณจะจัดเต็มเครื่องเสียงมาขนาดไหนก็ควรเปิดเครื่องเสียงในรถยนต์ก็ควรเปิดให้ดังพอเหมาะแค่ภายในรถเท่านั้น เพื่อให้สามารถได้ยินเสียงรอบข้างเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ผิดปกติ โดยเฉพาะขณะขับรถในสภาวะฝนตก ผู้ขับขี่ที่เปิดเพลงดังจนเกินไปจะทำให้สมาธิในการขับขี่ลดน้อยลง ซึ่งอาจไม่ได้ยินเสียงแตรจากรถคันหลังที่ต้องการแซง หรือไม่ได้ยินเสียงวัตถุต่างๆ ที่กระเด็นมาถูกตัวรถ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายและอุบัติเหตุด้วยกันทั้งสิ้น

9.จับพวงมาลัยด้วยมือข้างเดียว

หลายคนอาจต้องการความผ่อนคลายในระหว่างขับรถเป็นเวลานาน จึงอาจเผลอจับพวงมาลัยด้วยมือข้างเดียวจนติดเป็นนิสัย แต่หารู้ไม่ว่าการจับพวงมาลัยด้วยมือข้างเดียวนั้นจะลดประสิทธิภาพการควบคุมพวงมาลัยหากจำเป็นต้องหลบหลีกสิ่งกีดขวางกะทันหัน เช่น ในกรณีรถตกหลุมหรือก็อาจควบคุมพวงมาลัยไม่อยู่ จนทำให้รถเกิดการเสียหลักได้ ทั้งนี้ ตำแหน่งที่ถูกต้องของการจับพวงมาลัย เมื่อเปรียบเทียบกับหน้าปัดนาฬิกา คือ มือซ้ายอยู่ในตำแหน่ง 9 โมง ส่วนมือขวาจะอยู่ในตำแหน่งบ่าย 3 โมง และจับพวงมาลัยแน่นพอประมาณ แต่ไม่หลวมจนเกินไป ซึ่ง แขนจะมีลักษณะงอเล็กน้อย ช่วยให้บังคับพวงมาลัยได้แม่นยำขึ้น

10.ขับรถแช่เลนขวา

โดยปกติแล้วเลนขวาเป็นเลนสำหรับใช้แซง เมื่อแซงเรียบร้อยแล้วต้องรีบหาระยะที่ปลอดภัยเพื่อกลับไปอยู่เลนเดิม แต่ปัจจุบันเรามักจะเห็นพฤติกรรมขับรถแช่เลนขวานาน ซึ่งแบบนี้ก็เสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุเนื่องจากรถที่ตามมาด้วยความเร็วสูงอาจต้องการแซง ซึ่งการที่เขาจะแซงซ้ายก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้อย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ตาม หากคนขับรถทุกคนตระหนักถึงการสร้างแนวคิดและทัศนคติการขับรถปลอดภัย เพื่อป้องกันหรือหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ แม้ว่าต้นเหตุแห่งอุบัติเหตุนั้นจะมาจากความผิดพลาดของตนเอง หรือจากความผิดพลาดของผู้อื่น หรือจากสภาวะแวดล้อมที่เลวร้ายไม่เอื้ออำนวยสำหรับการขับขี่ก็ตาม โดยคำนึงถึงเป้าหมายในการขับขี่ เช่น ต้องไม่ให้ไปชนผู้อื่น, ไม่ให้ผู้อื่นมาชนเรา, ไม่เป็นเหตุให้ผู้อื่นชนกัน และต้องถึงที่หมายอย่างปลอดภัย เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

โดย…น้าเช

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

Advertisement