“ยานยนต์ไร้คนขับ” หรือ Autonomous Vehicles ได้เริ่มเข้ามาถึงอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเทคโนโลยีนี้นับว่าช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มความปลอดภัยด้านงานขนส่ง ตลอดจนลดทุนในระยะยาวได้อย่างดีเยี่ยม ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง แม้ในปัจจุบันจะพบเป็นจำนวนน้อย แต่คาดการณ์ว่าเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับจะถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและก้าวข้ามขีดจำกัดที่เคยมีมากยิ่งขึ้นจนเป็นยอมรับอย่างกว้างขวางในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีค่ายรถยักษ์ใหญ่หลายบริษัทกำลังแข่งขันกันพัฒนายานยนต์ไร้คนขับออกมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มในอนาคตอาจจะมีการผลิตเข้าสู่ตลาดโลกเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป้าหมายของนวัตกรรมดังกล่าว คือ เพื่อให้ผู้คนในวงการขนส่งและโลจิสติกส์สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องราคาพลังงานเชื้อเพลิงและปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานที่ต้องทำงานหนัก ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยลดภาระให้พนักงานขับรถและสามารถรับหน้าที่ในการวิ่งงานซ้ำ ๆ ได้โดยไม่ต้องหยุดพัก ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนธุรกิจและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รถไร้คนขับกับงานขนส่ง ครั้งแรกของโลก
ย้อนไปเมื่อ 8 ปีก่อน “เดมเลอร์” ค่ายรถเพื่อการพาณิชย์ชั้นนำในยุโรป ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการผลิตรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติ แต่ยังติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบจากรัฐบาลในแถบยุโรป ซึ่งส่งผลให้ทางเดมเลอร์ไม่สามารถนำเทคโนโลยีรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้ในงานขนส่งจริงในยุโรปได้ดังนั้น จึงหาทางออกโดยการนำเทคโนโลยีไร้คนขับมาใช้งานกับรถบรรทุกค่าย “Freightliner” ที่เป็นแบรนด์รถเพื่อการพาณิชย์สัญชาติอเมริกันที่อยู่ในเครือเดียวกับเดมเลอร์ โดยอาศัยกฎระเบียบทางฝั่งอเมริกาที่มีความยืดหยุ่นกว่าทางยุโรปเป็นโอกาสในการสร้างวัตกรรมดังกล่าว
ส่งผลให้สามารถพัฒนารถบรรทุกไร้คนขับได้ง่ายขึ้น พร้อมกับสามารถใส่นวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้งานได้จริง จากนั้นไม่นานเดมเลอร์ก็ได้เปิดตัวรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติที่สามารถใช้ในงานขนส่งบนท้องถนนหลวงได้จริงเป็นคันแรกภายใต้แบรนด์ Freightliner ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เราได้เห็นรถบรรทุกไร้คนขับจาก Freightliner วิ่งงานขนส่งบนถนนจริงๆ เป็นเจ้าแรกของโลก
คลิป : https://www.youtube.com/watch?v=9hA9SMaRVQ8&t=21s
ที่เมืองไทยถูกใช้งานจริงแล้ว
สำหรับในประเทศได้มีผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศและผู้นำด้านนวัตกรรมท่าเรืออัจฉริยะระดับโลก หรือ “ฮัทชิสัน พอร์ท” เปิดตัวรถบรรทุกหัวลากไร้คนขับ เพื่อนำมาปฏิบัติงานภายในท่าเทียบเรือ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เป็นแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นกลุ่มแรกในโลก ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับวงการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศด้วยเทคโนโลยีรถบรรทุกไร้คนขับที่เรียกว่า ‘Qomolo’ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานที่ท่าเทียบเรือแห่งนั้นได้เป็นอย่างดี
โดยรถบรรทุกไร้คนขับ ‘Qomolo’ ได้โชว์ศักยภาพในการปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับร่วมกับ รถบรรทุกที่มีอยู่ในปัจจุบันสำหรับการขนส่งตู้สินค้าระหว่างหน้าท่าและลานตู้สินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยี AI ขั้นสูง และระบบการชาร์จพลังงานแบบไร้สาย ส่งผลให้สามารถปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง ประกอบกับ การติดตั้งเซ็นเซอร์ที่วัดระยะห่างด้วยแสงเลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจจับและสำรวจสภาพแวดล้อมทุกทิศทางได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยการสร้างแผนที่แบบ 3 มิติ ทำให้สามารถวิเคราะห์และประเมินสภาพการจราจรเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคและการชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การปฏิบัติงานของรถบรรทุกไร้คนขับภายในท่าเทียบเรือดังกล่าว ได้ถูกควบคุมด้วยระบบปฏิบัติการสำหรับท่าเทียบเรือแบบครบวงจร ซึ่งบริษัทนี้ได้ทำการพัฒนาขึ้นเองเพื่อบูรณาการในการทำงานร่วมกับนวัตกรรมและระบบอื่นๆ ภายในท่าเทียบเรือ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลเพื่อวางแผนเส้นทางวิ่งของรถ ตลอดจนระบบนัดหมายรถเข้าท่าเทียบเรือและลานจอดรถ เพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดในการปฏิบัติงาน
ยานยนต์ไร้คนขับ กับการใช้งานบนถนน
แม้ผู้พัฒนายานยนต์ไร้คนขับส่วนใหญ่จะเชื่อว่าประโยชน์สูงสุด ก็คือลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งมักเกิดจากความประมาทและความผิดพลาดของมนุษย์ แต่ปัจจุบันนวัตกรรมยานพาหนะไร้คนขับในหลายประเทศ ยังคงติดอุปสรรคด้านการยอมรับจากสังคมในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากยังคงมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการทดสอบอยู่บ่อยครั้ง
ดังนั้น จึงต้องเตรียมความพร้อมในระบบต่างๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งปัจจัยหลักของการนำยานยนต์ไร้คนขับมาใช้งานบนถนนจริง อาจต้องมีเซนเซอร์จำนวนมากที่ช่วยการวิเคราะห์สถานการณ์รอบๆ ข้าง หรือในบางประเทศยังมีโมเดลสร้าง “ถนนเลนพิเศษ” ซึ่งจะสามารถตัดปัญหาเรื่องจราจรติดขัดระหว่างที่นำไปใช้งานจริงบนท้องถนนได้บ้าง หรืออาจออกแบบมาเพื่อให้สามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับรถได้โดยตรงจากใต้ท้องถนนในระหว่างการเดินทางได้โดยไม่ต้องนำกลับมาชาร์จที่สถานีชาร์จให้เสียเวลา
การเข้ามาของเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ ถือเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่ออุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนขับรถเพราะอาจตกงานเนื่องจากถูกแทนที่ด้วยรถไร้คนขับได้ อย่างไรก็ตาม รถไร้คนขับยังคงมีข้อจำกัดอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้คนขับยังคงมีความได้เปรียบ เช่น ไม่มีความเชี่ยวชาญในสถานที่ต่างๆ และไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองเมื่อเกิดปัญหาได้ เป็นต้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- เทเลเมติกส์-IOT เทคโนโลยีที่ช่วยตรวจสอบและป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงของขับรถขนส่งได้
- IoT สำคัญอย่างไร ในธุรกิจขนส่งยุคปัจจุบัน
- ทำธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ยุคใหม่ ต้องปรับตัวอย่างไร ถึงจะไปรอด
- จับชีพจรธุรกิจขนส่งปี 65 ผู้ประกอบการต้องกล้าปรับตัว
- ทำธุรกิจขนส่งในเมืองไทย “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือ “ปลาเร็วกินปลาช้า” ต้องแบบไหนถึงได้เปรียบ
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com