ค่าควันดำ

กรมการขนส่งทางบกเริ่มใช้เกณฑ์ตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียใหม่ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกและโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกประกาศกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ปรับปรุงการกำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยควันดำให้น้อยลง ซึ่งจะช่วยควบคุมมลพิษและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

กรมการขนส่งทางบก จึงได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวัดค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกและกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ดังนี้

– ตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิม ร้อยละ 45

– ตรวจวัดควันดำด้วยเครื่องวัดควันดำระบบกระดาษกรอง ขณะเครื่องยนต์ไม่มีภาระ ค่าควันดำสูงสุดไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิม ร้อยละ 50

ซึ่งเกณฑ์การตรวจควันดำใหม่ เริ่มมีผลบังคับใช้กับการตรวจวัดควันดำรถที่มาดำเนินการตรวจสภาพรถก่อนจดทะเบียน หรือตรวจสภาพรถก่อนชำระภาษีประจำปีที่สำนักงานขนส่ง และสถานที่ตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ทุกแห่ง

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อว่า การปรับปรุงมาตรฐานการตรวจวัดค่าควันดำดังกล่าวนอกจากมีผลบังคับใช้กับสำนักงานขนส่ง และสถานที่ตรวจสภาพรถแล้ว ยังนำไปใช้กับการตรวจควันดำบนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ ซึ่งเป็นแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

โดยกรมการขนส่งทางบกได้จัดผู้ตรวจการออกตรวจวัดควันดำจากท่อไอเสียของรถบรรทุกและรถโดยสาร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และเพิ่มความถี่ในการปฏิบัติงานออกตรวจวัดควันดำทั่วประเทศ โดยเฉพาะบนถนนสายหลักและสายรองที่เข้า-ออกกรุงเทพมหานคร หากตรวจวัดควันดำด้วยระบบวัดความทึบแสง แล้วมีค่าควันดำเกินร้อยละ 30 หรือตรวจวัดควันดำด้วยระบบกระดาษกรอง แล้วมีค่าควันดำเกินร้อยละ 40 จะถูกเปรียบเทียบปรับสูงสุด 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถด้วยการพ่นข้อความ “ห้ามใช้” จนกว่าเจ้าของรถจะนำรถไปแก้ไขสภาพเครื่องยนต์ไม่ให้มีค่าควันดำเกินกำหนด และนำมาตรวจสภาพอีกครั้งจนผ่าน

ค่าควันดำ

ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนควรใส่ใจสิ่งแวดล้อมและมลภาวะทางอากาศ ผู้ประกอบการขนส่งและเจ้าของรถควรให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอ รวมถึงการปรับพฤติกรรมการขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์อีกด้วย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

โดย…เทลเลอร์

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com

Advertisement