เตรียมตัวให้พร้อมกับรถไฟฟ้า APM เตรียมเปิดให้บริการแล้ว เม.ย.ปีหน้ามาแน่!

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT1) โดยระบุว่า ขณะนี้อาคารดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ มีแผนเปิดให้บริการในเดือน เม.ย.2566 พร้อมกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) หรือรถไฟฟ้าไร้คนขับ ซึ่งจะเดินรถให้บริการรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างอาคาร SAT1 และอาคารผู้โดยสารหลัก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

หลายคนพอจะทราบถึงข่าวคราวการเปิดตัว อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 หรืออาคารแซทเทิลไลท์ (SAT-1) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีกำหนดจะทดสอบระบบและเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งนอกจากอาคารหลังใหม่แล้ว อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่คนไทยตั้งตารอนั่นคือ ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) หรือรถไฟฟ้ารางเบาไร้คนขับ APM ที่จะนำมาวิ่งใต้อุโมงค์เพื่อเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารปัจจุบันกับอาคารหลังใหม่

แต่รู้หรือไม่ว่า “อินเตอร์ลิ้งค์ฯ” ได้จับมือร่วมกับบริษัท SIEMENS ในการจัดหารถไฟฟ้า APM ส่งตรงจากโรงงานที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งได้ส่งถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรีตั้งแต่ 14 ก.ค.2020 ที่ผ่านมา โดยมีล็อตแรกจำนวน 1 ขบวน ประกอบด้วย 2 โบกี้ โดยทางผู้บริหารของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อรับมอบรถไฟฟ้าดังกล่าวและได้ทยอยส่งมอบที่เหลือจนครบเรียบร้อยแล้ว

เตรียมตัวให้พร้อมกับรถไฟฟ้า APM เตรียมเปิดให้บริการแล้ว เม.ย.ปีหน้ามาแน่!
cr. www.interlink.co.th

สำหรับบางคนที่ยังไม่รู้ว่าจริง ๆ ชื่อ APM นั้นไม่ใช่ชื่อรถ แต่คือระบบทั้งหมดที่เรียกว่า ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) ซึ่งรถ APM ที่จะใช้ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น ผลิตโดยบริษัท SIEMENS ซึ่งถ้าถามว่า แล้วที่ไหนบ้างที่ใช้รถ APM แบบนี้ บอกเลยว่ามีเยอะมาก ๆ ทั้งสนามบิน Charles de Gaulle และสนามบิน Ory ที่ประเทศฝรั่งเศส สนามบิน O’Hare International Airport ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงยังวิ่งให้บริการตามเมืองต่าง ๆ ทั้งที่ประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ และไต้หวันอีกด้วย

สำหรับรถ APM ที่ใช้ในสนามบินสุวรรณภูมินั้น เป็นรุ่น AIRVAL ที่ใช้ระบบรางวิ่งแบบ central rail-guided APM มีรางจ่ายไฟ 750 VDC บริเวณกึ่งกลางทางวิ่ง มีความถี่ในการวิ่งให้บริการสูง สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีระยะเบรกสั้น ล้อรถเป็นยางซึ่งจะยึดเกาะได้ดีในพื้นที่ลาดเอียง และให้เสียงที่เงียบกว่าระบบไฟฟ้าอื่น ๆ น้ำหนักทั้งหมดอยู่ที่ 31.223 ตัน ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 210 คนต่อขบวน แบ่งเป็น 16 คนนั่ง 194 คนยืน ซึ่งจะสามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากถึง 3,590 คนต่อชั่วโมงต่อเที่ยว

APM
cr. www.interlink.co.th

โดยจำนวนรถที่จะส่งมอบมีทั้งหมด 6 ขบวน ซึ่ง 1 ขบวน ประกอบด้วย 2 โบกี้ พร้อมวิ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ โดยจะวิ่งใต้ดินให้บริการรับส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันกับอาคารหลังใหม่ เป็นระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 2 นาทีต่อเที่ยว ถือเป็นแห่งแรกและครั้งแรกของประเทศไทย ที่จะมีรถไฟฟ้าให้บริการฟรีภายในสนามบินอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการในเดือน เมษายน 2566 อย่างแน่นอน

 

 

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก :

 www.interlink.co.th

www.bangkokbiznews.com

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

 

โดย…เวโย

 

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com

 

 

 

 

Advertisement