วันที่ 23 มิถุนายน 65 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ. หรือ DIPROM ดีพร้อม) เผยว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ขณะเดียวกันยังสั่นคลอนสถานการณ์พลังงานและห่วงโซ่การผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งราคาน้ำมัน ราคาก๊าซ ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในกระบวนการผลิต ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ที่สร้างแรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยต้องเผชิญ
ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้ “โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม” เน้นพัฒนาทักษะผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและพลาสติก ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางพาราและผลิตภัณฑ์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเกษตรอุตสาหกรรม ให้มีทักษะการบริหารจัดการโลจิสติกส์ภายในองค์กรอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล
โดยที่สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงฐานข้อมูลภายในองค์กร และใช้นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน โดยผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้ไม่น้อยกว่า 20% ทั้งต้นทุนการถือครองสินค้าคงคลัง (Inventory Holding Cost) ต้นทุนการขนส่งสินค้า (Transportation Cost) และต้นทุนการบริหารจัดการ (Administration Cost)
ซึ่งได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ไปให้คำปรึกษาแนะนำ ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์แก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาหรือมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูง เช่น การบริหารจัดการคลังสินค้า การบริหารสินค้าคงคลัง การพยากรณ์ยอดขาย การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบ และการขนส่งสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ อาทิ การใช้โปรแกรมจัดเส้นทางขนส่งสินค้า เพื่อลดจำนวนเที่ยวในการจัดส่งสินค้า การใช้โปแกรมช่วยในการพยากรณ์ยอดขาย เพื่อวางแผนการผลิตและการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบให้มีความแม่นยำขึ้น หรือการนำโปรแกรมการจัดการคลังสินค้า (Warehouse management system) เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการในคลังสินค้า
พบว่าในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2565) ของการดำเนินงานสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 50 กิจการ คิดเป็นมูลค่าต้นทุนที่ลดลงกว่า 600 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2565 จะสามารถลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 1,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังได้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มเติมจากวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้น (C-Customization) พร้อมการปฏิรูปการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความเป็นปัจจุบัน (R-Reformation) ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถก้าวข้ามอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของภาคเศรษฐกิจไทย
ขอบคุณข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
- ทช.พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยบนท้องถนน รองรับการปรับความเร็วจำกัดไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
-
คมนาคมเร่งพัฒนาพื้นที่ทางพิเศษแห่งประเทศไทย 7 แห่ง เพื่อประโยชน์ของคนในประเทศ
- ขสมก. เร่งแก้ปัญหา รอรถเมล์นาน ปรับปรุงแผนแล้วเสร็จ 107 เส้นทาง
- 3 การเปลี่ยนแปลงของอนาคตการขนส่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ
โดย…เทลเลอร์
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com