เมื่อวันที่ 17 , 20 และ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางราง ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินคุณภาพสถานีดีพร้อมในกลุ่มรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมืองหลายสถานี ได้แก่
- สถานีลาดพร้าว (BL15)
- สถานีเพชรบุรี (BL21)
- สถานีสุขุมวิท (BL22)
- สถานีกลางบางซื่อ (RN01/RW01)
- สถานีพญาไท (A8)
- สถานีหลักสอง (BL38)
- สถานีคลองบางไผ่ (PP01)
- สถานีคูคต (N24)
- สถานีแยก คปอ. (N23)
- สถานีหมอชิต (N8)
- สถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง ดอนเมือง
โดยกิจกรรม “สถานีดีพร้อม” เป็นการลงพื้นที่ตรวจประเมินคุณภาพสถานีรถไฟ และรถไฟฟ้า ซึ่งจะมีการประเมินความพร้อมของสถานีตามมาตรฐานสากล 8 ด้าน ประกอบไปด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการเชื่อมต่อ ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ ด้านความปลอดภัย ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design ด้านการให้บริการ และด้านสุนทรียภาพ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการให้มีประสิทธิภาพมุ่งสู่มาตรฐานสากล
สำหรับการลงพื้นที่ตรวจประเมินที่แรก คือ สถานีลาดพร้าว (BL15) เป็นสถานีที่มีพื้นที่จอดแล้วจร ที่มีอาคารมีขนาดใหญ่และสามารถรองรับผู้มาใช้บริการได้จำนวนมากรวมทั้งมีพื้นที่ร้านค้าเชิงพาณิชย์และพื้นที่เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
สถานีถัดไปที่ลงพื้นที่ คือ สถานีเพชรบุรี (BL21) เป็นสถานีที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการเดินทางไปยังขนส่งรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Airport Rail Link (สถานีมักกะสัน) รถไฟทางไกล (ป้ายหยุดรถอโศก) รวมถึงท่าเรืออโศก จึงนับเป็นอีกหนึ่งสถานีที่เชื่อมต่อการเดินทางจากระบบขนส่งทางรางไปยังระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการให้เดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ
ต่อมาสถานีสุขุมวิท (BL22) เป็นสถานีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของพื้นที่เชิงพาณิชย์ในเขตเมือง มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลาย พร้อมทั้งมีเส้นทางการเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้า BTS และยังมีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังอาคาร ศูนย์การค้า และย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ
ในส่วนของสถานีกลางบางซื่อ (RN01/RW01) ในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งด้วยระบบรางที่มีความทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล โดยมีการเตรียมความพร้อมของระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบรักษาความปลอดภัย ระบบการเชื่อมต่อระบบการให้บริการ เพื่อรองรับการเข้ามาใช้บริการของประชาชน
สถานีพญาไท (A8) เป็นสถานีที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และนับเป็นอีกหนึ่งสถานีที่เชื่อมต่อการเดินทางจากระบบขนส่งทางรางไปยังระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย โดยสถานีพญาไทเป็นสถานีต้นทางที่เชื่อมต่อการเดินทางด้วย Airport Rail Link ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสามารถเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS รวมถึงรถไฟทางไกลได้เช่นกัน
ต่อมาสถานีหลักสอง (BL38) ถึงแม้ว่าสถานีนี้จะตั้งอยู่ห่างจากใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่ก็ยังอยู่ในจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของย่านบางแค ซึ่งตั้งอยู่ติดกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มีอาคารจอดแล้วจรสำหรับรองรับผู้มาใช้บริการ จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งสถานีที่มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
สถานีคลองบางไผ่ (PP01) เป็นสถานียกระดับในเส้นทางรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ถือเป็นสถานีต้นทางของรถไฟฟ้าสายนี้ ตั้งอยู่ที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี และรองรับการใช้บริการผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปยังจังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรีและพระนครศรีอยุธยา
ต่อมาได้ลงพื้นที่ตรวจสถานีรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สายสุขุมวิท ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้แก่สถานีคูคต (N24) และสถานีแยก คปอ. (N23) ซึ่งปัจจุบันยังเปิดให้บริการฟรี สถานีคูคต ถือเป็นสถานีปลายทางของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีตำรวจภูธรคูคต เชื่อมต่อกับศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร ที่รองรับการจอดของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้ประมาณ 1,500 คัน มีการออกแบบจุดจอดรับ/ส่งเฉพาะ รถส่วนบุคคล แท็กซี่ รถตู้และรถเมล์อย่างครบวงจร มีลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้
ต่อมาสถานีแยก คปอ. เดิมชื่อว่า สถานี กม.25 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สถานีแยกคปอ. ตามชื่อย่อของกรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศและสามแยกที่ รฟม. ได้ตัดถนนใหม่ใต้ทางรถไฟฟ้าเพื่อเข้าสู่ถนนลำลูกกา สถานีนี้เป็นอีกหนึ่งสถานีที่เชื่อมต่อกับอาคารจอดแล้วจอด ที่สามารถรองรับการจอดของรถยนต์ได้กว่า 1,500 คัน และอีกความแตกต่างของสถานีคือ ตลอดทางเดินใต้รางรถไฟฟ้าและทางวิ่งทั้งสองข้างมีแผงกั้นระดับสายตาตลอดทาง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของกองทัพอากาศไทย
สถานีสุดท้ายของการลงพื้นที่ คือ สถานีหมอชิต (N8) เดิมเป็นสถานีปลายทางของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่หลากหลายและสำคัญของกรุงเทพฯ อีกทั้งมีทำเลที่ตั้ง ที่รายล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญมากมาย ทั้งอาคารสำนักงาน โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารและสวนสาธารณะ
จากการลงพื้นที่ตรวจประเมินคุณภาพสถานีดีพร้อมในกลุ่มรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมืองในครั้งนี้ของกรมการขนส่งทางราง พบว่าหลายสถานีได้มีความพร้อมในการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน และทางกรมการขนส่งทางรางหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรม “สถานีดีพร้อม” จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ส่งเสริมให้สถานีต่าง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เดินหน้าพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดแก่ประชาชนมากที่สุด
ที่มา : กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
- เคล็ด (ไม่) ลับเสริมฮวงจุ้ยให้รถขนส่งสินค้าและรถบรรทุก
- เทคโนโลยีเพื่อคลังสินค้านวัตกรรมธุรกิจโลจิสติกส์
- 5 พฤติกรรมที่ควรหยุดทำถ้าไม่อยากทำร้ายรถขนส่ง
- 4 สัญญาณที่บ่งบอกว่าได้เวลาเปลี่ยนรถบรรทุกแล้ว
โดย…เวโย
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com