ตามที่สื่อมวลชน (ฐานเศรษฐกิจดิจิตัล) ได้รายงานข่าวในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 กรณี นายกฯ เบรก ขสมก. หลังถก คนร. ครั้งล่าสุด ตามติดแผนฟื้นฟูกิจการแก้ปัญหาหนี้สะสมแสนล้าน เจอติงโครงการจ้างเหมาวิ่งรถเมล์ EV นำร่อง 224 คัน มูลค่า 953 ล้าน อาจเลี่ยงปมไม่ผ่านบอร์ดสภาพัฒน์ตรวจสอบ สั่งด่วนไปคุย สศช. เช็กเข้าข่ายเป็นงบลงทุนที่เสนอบอร์ดหรือไม่
ขสมก. ขอชี้แจงว่าปัจจุบันขสมก. มีรถโดยสารประจำทางอยู่ 2,885 คัน และมีเส้นทางให้บริการ จำนวน 107 เส้นทางและอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เนื่องจากที่ผ่านมาขสมก. ประสบปัญหาการขาดทุนจากต้นทุนการให้บริการไม่สอดคล้องกับรายได้ที่ได้รับ ทำให้มีภาระหนี้สินผูกพันต่อเนื่องประมาณ 124,000 ล้านบาทและรถโดยสารประจำทางของขสมก. ที่มีอยู่มีสภาพชำรุดทำให้มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาจำนวนมากประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี
ประกอบกับตามหลักเกณฑ์การบรรจุรถโดยสารประจำทางเพื่อขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการจากกรมการขนส่งทางบก กำหนดให้ต้องนำรถใหม่หรือรถที่จดทะเบียนไว้ไม่เกิน 2 ปี เพื่อบรรจุในใบอนุญาตดังกล่าวภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการส่งผลให้ขสมก. มีความจำเป็นต้องจัดหารถโดยสารประจำทางอย่างเร่งด่วนเพราะไม่มีรถใหม่บรรจุตามเงื่อนไขดังกล่าว
หากไม่สามารถนำรถไปบรรจุได้ทันภายในระยะเวลากำหนดอาจส่งผลให้ขสมก. เสียสิทธิการเป็นผู้ประกอบกิจการเดินรถอันเป็นภารกิจหลักขององค์การ รวมทั้งไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเท่าเทียมทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางของขสมก.
ในเรื่องของการจัดหารถโดยสารในวิธีการจ้างเหมาบริการแทนที่จะเป็นการซื้อหรือการเช่ารถโดยสารประจำทางนั้น ขสมก. ขอชี้แจงในประเด็นนี้ว่า การจ้างเหมาบริการ (เอกชนจัดหารถโดยสารและพนักงานขับรถ) เป็นการใช้งบดำเนินงานจากค่าโดยสาร ส่วนต่างของต้นทุนด้านเชื้อเพลิง (จากน้ำมันดีเซลเป็นระบบไฟฟ้า) ส่วนต่างของค่าเหมาซ่อมที่ลดลง รวมทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจ้างบุคลากรเดินรถ โดยไม่ใช้งบลงทุนเพิ่มในการดำเนินการ ไม่ต้องกู้เงินเพิ่มและไม่เป็นภาระผูกพันในระยะยาว
เนื่องจากเป็นการทำแผนงานระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นวิกฤตของขสมก. โดยเป็นสัญญาระยะสั้น ในช่วงที่รอให้แผนฟื้นฟูได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการ โดยแนวทางการจัดหารถโดยสารด้วยวิธีการจ้างเหมาบริการนั้นขสมก. อ้างอิงตามหลักการจำแนกงบประมาณรายจ่ายตามงบประมาณในหมวดค่าใช้สอย ที่หมายถึงรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ (ค่าจ้างเหมาบริการ เพื่อให้ผู้รับจ้างทำการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง แต่มิใช่เป็นการประกอบ ดัดแปลง ต่อเติมหรือปรับปรุง ครุภัณฑ์ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง) ตามหนังสือของสำนักงบประมาณ ที่ นร 0704/ว 33 ลงวันที่ 18 มกราคม 2553
อย่างไรก็ดีภายใต้ขอบเขตของการดำเนินงานในโครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเดินรถและลดมลภาวะในเขตเมืองรวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของขสมก. ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น ซึ่งมีความต้องการรถโดยสารประจำทาง ประมาณ 200 คัน โดยไม่ใช้งบลงทุนเพราะไม่เป็นรายจ่ายเพื่อให้เกิดสินทรัพย์ถาวร จึงไม่เข้าข่ายดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2563 ประกอบกับ มาตรา 7 (5) แห่ง พ.ร.บ. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561
อย่างไรก็ตาม จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ขสมก. เร่งรัดการดำเนินการตามมติการประชุมคนร. และทุกข้อสังเกตในที่ประชุม ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดเพื่อให้สามารถรองรับการให้บริการกับประชาชนให้มีประสิทธิภาพและได้รับความพึงพอใจอย่างสูงสุด ทั้งในประเด็นการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและการขอคำปรึกษากับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้มีความโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัดต่อไป
ขอบคุณข่าวประชาสัมพันธ์จาก: องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
- ส่งเสริมศักยภาพการกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจกับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 33
-
5 วิธีการลดอัตราการลาออกของพนักงานขับรถบรรทุก ที่ผู้ประกอบการควรรู้
- เผยคำแนะนำ ที่ช่วยลดและเลี่ยงอุบัติเหตุจากรถบรรทุก
- บขส. ช่วยปชช. ตรึงค่าโดยสารต่อ 3 เดือน
โดย…เทลเลอร์
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com