หลังจากที่ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้มีการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-หนองคาย และ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. งานโยธาจำนวน 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท โดยมีการตั้งเป้าหมายหลังแล้วเสร็จ สามารถเชื่อมโยงประเทศไทยกับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศจีน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระดับภูมิภาค

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้างานก่อสร้าง ซึ่งในปัจจุบันมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญาและรอลงนามก่อสร้าง 3 สัญญา ในการลงพื้นที่ติดตามงานนั้น ทั้งสามสัญญาคือ สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิด ระยะทาง 11 กม. มีวงเงินก่อสร้างกว่า 3,114 ล้านบาท กำลังเตรียมติดตั้งช่วงสะพานสุดท้าย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565 นี้

นับว่าเป็นสัญญาที่สองที่งานโยธาจะแล้วเสร็จต่อจากสัญญาที่1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก สัญญาที่3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และ กุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. มีวงเงิน 9,848 ล้านบาท ความคืบหน้า 27.78% ปัจจุบันรอเข้าพื้นที่เวนคืนประมาณ 10 กม. และสัญญาที่4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท ความคืบหน้าล่าสุด 23% (ใกล้เคียงแผนงานปัจจุบัน) มีการเข้าพื้นที่เวนคืน 86 ไร่ เพื่อก่อสร้างสถานีสระบุรีแห่งใหม่

อธิบดีกรมการขนส่งทางรางระบุว่า การรวมการก่อสร้างส่วนใหญ่เข้าพื้นที่ได้หมดแล้ว ที่ผ่านมาการก่อสร้างคืบหน้าไม่มากนัก เพราะมีอุปสรรคบางอย่าง เช่น การเข้าพื้นที่ที่ต้องใช้เวลาในการเวนคืน เจรจาแก้ปัญญาผู้บุกรุกพื้นที่รถไฟ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้ แต่ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้งานก่อสร้างจะคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว

“เราผ่านช่วงที่ยากลำบากที่สุดไปแล้ว เช่น การคุยกับทางผู้บุกรุกเข้ามาในพื้นที่ตอนนี้ได้มีการย้ายออกไปแล้ว ซึ่งเราได้ทำความเข้าใจกับชุมชน ในเรื่องของแรงงานได้เข้ามาหมดแล้ว ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องการย้ายแรงงานข้ามประเทศหรือข้ามจังหวัดอีกแล้ว น่าจะมีการก่อสร้างที่เร็วขึ้นมาก ๆ หลังจากนี้จะมีแค่เรื่องของการเวนคืนพื้นที่ของสถานีสระบุรีประมาณ 60 กว่าไร่ ซึ่งกำลังจะประกาศพระราชกฤษฎีกาเวนคืน คาดว่าหลังจากที่ได้พื้นที่เวนคืนมาแล้ว งานก่อสร้างจะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว” นายพิเชฐ อธิบดีกรมการขนส่งกล่าว

ในส่วนของความคืบหน้าภาพรวมของทั้งโครงการนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยประเมินว่าในปีนี้งานโยธาจะมีความคืบหน้าประมาณ 20% หากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถทดสอบโดยรถเสมือนจริงได้ในปี 2569 ซึ่งจะใช้เวลา 6 เดือนก่อนจะเปิดให้บริการประชาชนภายในต้นปี 2570

ส่วนระยะที่สองจาก นครราชสีมา-หนองคาย อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนการนำเข้าขอความเห็นชอบจากบอร์ดรถไฟในปีนี้ และคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จตามมาในปี 2571

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวสารจาก: สำนักข่าวไทย อสมท

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

โดย…เทลเลอร์

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com

 

Advertisement