จัดระบบการขนส่งสาธารณะอย่างไรให้เอื้ออำนวยต่อสังคมผู้สูงอายุ ในปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society สังคมที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง เรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงสำหรับผู้สูงอายุคือการให้บริการด้านสาธารณะโดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางทั้งของผู้สูงอายุและผู้พิการด้วย การวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตจึงต้องจัดให้มีระบบขนส่งมวลชนที่เอื้อให้คนพิการและผู้สูงอายุสามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก และเพียงพอ เพื่อเปิดโอกาสในการเดินทางให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้บริการขนส่งสาธารณะและขนส่งมวลชนได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

จัดระบบการขนส่งสาธารณะอย่างไรให้เอื้ออำนวยต่อสังคมผู้สูงอายุ

กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมคนพิการและผู้สูงอายุให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการบริการขนส่งสาธารณะ โดยจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคารสถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง ตามหลักการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design: UD) ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า อุปสรรคต่อการพัฒนาระบบบริการภาคขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุมีหลายปัจจัย จึงจำเป็นต้องกำหนดเป็น “ยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ” ที่ครอบคลุมการแก้ไขอุปสรรค เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานของหน่วยงานทุกภาคส่วน เป็นไปอย่างสอดคล้อง ครอบคลุม และบูรณาการ โดยในยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

1.ด้านนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและให้บริการคนพิการและผู้สูงอายุ จะเน้นในเรื่องการเสนอให้ใช้แนวคิดในการออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) และหลักกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง รวมถึงการจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายอย่างบูรณาการ

2.ด้านการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพสิ่งอำนวยความสะดวกและยานพาหนะสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ โดยเน้นในเรื่อง การปรับปรุงหรือพัฒนาอาคารสถานที่ที่ให้บริการภาคขนส่งและมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับยานพาหนะประเภทต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้บริการของคนพิการและผู้สูงอายุให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย หลักการออกแบบเพื่อทุกคน และหลักการออกแบบบริการ (Service Design)

3.ด้านการฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการคนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการจัดทำหลักสูตรและฝึกอบรมสำหรับผู้ที่รับผิดชอบด้านการออกแบบและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุที่ปฏิบัติงานในสถานที่บริการในภาคขนส่งต่าง ๆ รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุในการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีต่อคนพิการ เด็ก และผู้สูงอายุ

4.ด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อำนวยความสะดวกแก่คนพิการและผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการศึกษาหรือจัดให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพื่อประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับคนพิการแต่ละประเภทและผู้สูงอายุ เช่น เว็บไซต์ตามมาตรฐาน และ Mobile application

 

ในอนาคตยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคขนส่งสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จะเป็นส่วนสำคัญเพื่อรับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ตลอดจนยกระดับคุณภาพมาตรฐานการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้คนพิการและผู้สูงอายุ สามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวกปลอดภัย และให้การเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะเป็นองค์ประกอบหลักของทุกคนอย่างแท้จริง

 

 

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก :

www.dop.go.th

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

 

โดย…เวโย

 

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com

 

Advertisement