เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2565 นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างหน่วยงานของรัฐ เจ้าของโครงการ ผู้ประกอบการ และผู้สังเกตการณ์ ในโครงการจ้างเหมาบริการเดินรถโดยสารปรับอากาศที่ใช้พลังงานสะอาด (EV) โดยได้ลงนามพร้อมกับผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จำนวน 3 คนประกอบด้วย 1.รศ.ดร.ราเชนทร์ ชินทยารังสรรค์ 2.นางสุจิตรา สุดดเขตต์ และ 3.นายอรวิทย์ เหมาะจุฑา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ การจัดการเดินรถ และลดมลภาวะในเขตเมือง จำนวน 224 คัน เป็นวงเงิน 953 ล้านบาท
ซึ่งที่ผ่านมาโครงการนี้ได้มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บอร์ด ขสมก.) ได้เห็นชอบโครงการดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่เบื้องต้นทาง ขสมก.เล็งเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีผลกระทบต่อการให้บริการของประชาชน และมีมูลค่าโครงการค่อนข้างสูง จึงอยากให้มีความโปร่งใสในการทำงานมากขึ้น ทาง ขสมก. จึงได้ทำการจัดทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง เพื่อนำโครงการเข้าสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงคุณธรรมระหว่างกัน และทางกรมบัญชีกลางเองก็ได้ส่งรายชื่อผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการดำเนินการในครั้งนี้ด้วย
นอกจากนั้นนายกิตติกานต์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากการลงนามจะเริ่มดำเนินการจัดประชุมเพื่อจัดทำร่างเอกสารการประกาศประกวดราคา (ทีโออาร์) รวมทั้งรายละเอียดข้อกำหนดของโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้ และต่อจากนั้นจะนำทีโออาร์ขึ้นประชาพิจารณ์ผ่านเว็บไซต์ ของขสมก.หากไม่มีข้อคัดค้านก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีการประกวดราคาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยทุกขั้นตอนจะมีความโปร่งใสแน่นอน คาดว่าจะได้ผู้ชนะและลงนามสัญญาได้ ภายในปลายปี 2565 และจะได้เห็นรถโดยสาร EV นำมาให้บริการได้ภายในต้นปี 2566 แต่อย่างไรก็ตามหากมีข้อทักท้วงเราก็จะเข้าสู่กระบวนการทบทวนทีโออาร์ก่อน จากนั้นจึงจะดำเนินการตามแผนต่อไป ซึ่งในกรณีนี้ระยะเวลาอาจจะมีการขยายเวลาออกไปได้
สำหรับการส่งมอบรถนั้นอาจจะยังไม่สามารถระบุได้เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์ ซึ่งในทีโออาร์นี้จะระบุว่าจะส่งมอบรถภายในกี่วัน หรือส่งมอบแบ่งเป็นลอต ๆ แต่คาดเอาไว้ว่าจะส่งมอบและให้บริการได้ภายในช่วงต้นปี 2566 ส่วนแผนการจ้างเอกชนวิ่งให้บริการ เบื้องต้นกำหนดไว้ 2 ปี ระหว่างรอแผนฟื้นฟูผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
สุดท้าย ผอ.ขสมก.ได้ระบุว่า รถ EV ทั้ง 224 คัน ที่นำมาใช้บริการประชาชนเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนมากขึ้นนั้นจะสามารถช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 70 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) อยู่ที่ 1,500 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดต้นทุนค่าเหมาซ่อมประมาณ 160 ล้านบาทต่อปี รวมเป็นเงินประมาณ 230 ล้านบาท จากที่ปัจจุบันได้จ่ายค่าเหมาซ่อม 2,885 คัน อยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี และให้ความเชื่อมั่นว่าทุกกระบวนการทำงานจะเป็นไปด้วยความโปร่งใสอย่างแน่นอน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
- จะทำการขนส่งในเมืองใช้รถบรรทุกแบบไหนดี
- ทำอย่างไรเมื่อรถของคุณเกิดติดหล่มขึ้นมา
- จอดรถบรรทุกข้างทาง ทำอย่างไร? ให้ปลอดภัยและไม่ผิดกฎหมาย
- ขับรถขนส่งอย่างไรให้ปลอดภัยในเวลากลางคืน
โดย…เวโย
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com