การบริหารจัดการงานขนส่ง ทุกคนคงทราบดีว่าต้องรักษาประสิทธิภาพการขนส่งด้วยการลดการวิ่งเที่ยวเปล่า ซึ่งถือเป็นการจัดการการขนส่งที่มีเป้าหมายให้เกิดการใช้ประโยชน์จากรถขนส่งมากที่สุด เพราะการขนส่งโดยทั่วไปเมื่อส่งสินค้าเสร็จ จะตีรถวิ่งเที่ยวเปล่ากลับมา ซึ่งทำให้เกิดต้นทุนของการประกอบการเพิ่มสูงขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งต้นทุนที่เกิดขึ้นมานี้นับเป็นต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าใด และผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนเหล่านี้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้การบริหารการขนส่งเที่ยวกลับในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนักเนื่องจากไม่ทราบปริมาณความต้องการในการขนส่งสินค้า รวมถึงจุดหมายปลายทางของสินค้า ที่สำคัญปริมาณความต้องการการขนส่งสินค้าระหว่างต้นทางและปลายทางมักจะมีปริมาณไม่เท่ากัน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ดีขึ้น ซึ่งอาจมีแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ประกอบการขนส่ง ดังนี้
วิเคราะห์ปัจจัยการบริหารการขนส่ง
ผู้ว่าจ้างขนส่งสินค้าและผู้รับจ้างขนส่งต่างก็ต้องการประสิทธิภาพสูงสุดคือต้องการให้ต้นทุนการขนส่งต่ำที่สุด จัดส่งสินค้าให้ถึงผู้รับส่งสินค้าในเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพื่อให้กระบวนการต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
1.สินค้าและบริการ ปัจจุบันจำเป็นจะต้องมี ISO เพื่อรองรับคุณภาพมาตรฐานและแนวโน้มของธุรกิจ ลูกค้าทุกรายต้องการคุณภาพมาตรฐาน ทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ ผู้ผลิตสินค้าและขนส่งก็ต้องจัดการส่งสินค้าถึงตรงเวลาครบถ้วนปลอดภัยไม่มีเสียหาย โดยให้มีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำที่สุด
2.บรรทุกสินค้า จำเป็นต้องเลือกประเภทรถบรรทุกให้เหมาะสมกับประเภทการใช้งาน และมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น ในการเลือกใช้รถบรรทุกจะต้องพิจารณาว่า จะขนส่งสินค้าประเภทใดน้ำหนักเท่าไหร่ เส้นทางวิ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นอย่างไรต้องการความเร็ว หรือเน้นที่ความปลอดภัย เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อสำคัญในการเลือกใช้รถบรรทุกให้เหมาะสมกับประเภทการขนส่ง รวมทั้งหลังจากการใช้งานควรมีการตรวจเช็กรถและการดูแลบำรุงรักษาที่ดี เพื่อยืดระยะการใช้งานได้นานขึ้น
3.พนักงานขับรถ แต่ละบริษัทต้องการพนักงานขับรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างประหยัด ขับรถปลอดภัย มีความกระตือรือร้น มีบุคลิกที่ดี ดูแลรถได้อย่างถูกต้อง มีจิตสำนึกช่วยลด ต้นทุน และช่วยส่งเสริมงานขายงานตลาดของบริษัท พนักงานขับรถบรรทุกจะต้องมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม สังคม และสิ่งแวดล้อมสูง นอกจากรับผิดชอบสินค้าแล้วยังต้องรับผิดชอบรถด้วย
มุ่งลดต้นทุนการขนส่ง
โดยต้นทุนในการขนส่งนั้นอาจจำแนกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ดังต่อไปนี้
1.ต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจขนส่ง ส่วนใหญ่จะเป็นต้นทุนคงที่และลดได้ยาก ซึ่งจะประกอบด้วย เงินเดือนของพนักงาน ค่าประกันภัย ค่าภาษีรถ ค่าใช้จ่ายสำนักงานค่าเช่า ค่าเสื่อมราคาต่างๆ เป็นต้น กล่าวคือต้นทุนนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนคงที่ ต้นทุนชนิดนี้ถึงแม้ว่าจะมีการผลิตเป็นจำนวนมากหรือจำนวนน้อยเพียงใด ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในอัตราเท่าเดิมอยู่
2.ต้นทุนผันแปร เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนการผลิต สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการสามารถลดค่าใช้จ่ายได้คือ ต้นทุนรถวิ่ง เนื่องจากต้นทุนของการขนส่งที่เกิดจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงมีอัตราส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในด้านอื่น ดังนั้น หากสามารถบริหารจัดการในเชิงวิศวกรรมแล้ว จะทำให้สามารถทราบได้ว่าพฤติกรรมในการใช้งานรถบรรทุกแบบใดก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูง ซึ่งถ้าทราบถึงสาเหตุของการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเหล่านั้น ก็จะสามารถวางมาตรการสำหรับการประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมากเช่นเดียวกัน
ปัจจัยที่เป็นต้นทุนของการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงของรถบรรทุกสามารถจำแนกออกเป็น 4 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านเทคนิค ปัจจัยด้านการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมภายนอก เช่น จราจรติดขัด ทางลาดชัน และปัจจัยด้านการขับขี่ ควรปลูกฝังพนักงานขับรถให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างประหยัด
การบริหารงานบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ
เพราะคุณภาพของพนักงานขับรถเป็นสิ่งที่ต้องเข้มงวดตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกควรมีการสอบสัมภาษณ์ ความรู้เรื่องรถ กฎจราจร ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการยังไม่ค่อยใส่ใจมากนัก ควรมีการตรวจร่างกาย และการทดสอบขับรถ รวมถึงการควบคุมดูแลและการตรวจวัดผล ควรมีการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ควรแต่งตั้งและมอบหมายผู้ที่รับผิดชอบเรื่องการอบรมพนักงาน จัดทำคู่มือมาตรฐานในการปฏิบัติงานการปลูกฝังทัศนคติ และจิตสำนึกในเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนน
สร้างเครือข่ายพันธมิตรโลจิสติกส์และขนส่ง
เมื่อศึกษาต้นทุนการขนส่งที่แท้จริงแล้วจะพบว่า ต้นทุนเที่ยวกลับ เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาการเดินรถบรรทุกเที่ยวเปล่าที่สูงในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายหรือพันธมิตร ตั้งแต่การสร้างฐานลูกค้าผู้ใช้บริการให้มีทั้งต้นทางและปลายทาง ใช้รถบรรทุก รถขนส่ง ให้เกิดประโยชน์ทั้งไปและกลับ หรือมองหาการใช้บริการ รถบรรทุก รถขนส่ง สินค้าของผู้ให้บริการอื่นที่มีปลายทางเป็นต้นทางของผู้ประกอบการก็จะช่วยลดการวิ่งรถเที่ยวเปล่า ทั้งของผู้ประกอบการและผู้ให้บริการอื่นเหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ มีแพลตฟอร์มขนส่งออนไลน์ ที่ช่วยหาทางออกให้วงการขนส่ง อย่างแพลตฟอร์มของสตาร์ทอัพเมืองไทย อาทิ TRUCK BUDDY และ 360TRUCK
ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องใส่ใจความยั่งยืน
กรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนในงานขนส่ง ในประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกรีนโลจิสติกส์อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีนโยบายให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง มีส่วนร่วมในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะการดำเนินการในภาคขนส่งที่มีองค์กรด้านโลจิสติกส์ของภาครัฐ และบริษัทภาคเอกชนหลายพันรายผนึกกำลังร่วมกันพัฒนา
เช่น หลายบริษัทได้นำหลักเกณฑ์การขับรถอย่างถูกต้องปลอดภัย และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมมาใช้ฝึกอบรมคนขับรถขนส่งให้ปฏิบัติตาม พบว่าบริษัทสามารถประหยัดน้ำมันได้ 16% ขณะที่การขับรถตามวิธีที่ถูกต้องช่วยลดอุบัติเหตุได้ 27% ช่วยลดต้นทุนภาพรวมในการทำ Ecodriving ได้ 10-20% และสามารถเจรจากับบริษัทประกันภัยขอลดอัตราการจ่ายเบี้ยประกันได้ในราคาถูกลง เป็นต้น
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
- โลจิสติกส์กับแนวคิดพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน สำคัญอย่างไรในตลาดโลก?
- ธุรกิจขนส่งรายย่อย ต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด?
- ปัญหารถเที่ยวเปล่า (Backhaul) ความสูญเปล่าในงานขนส่งและโลจิสติกส์ ต้องหาทางออกอย่างไร?
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com