ถ้าพูดถึงผู้นำในด้านยานยนต์พลังงานทางเลือก อีกหนึ่งชื่อที่ใครหลายคนนึกถึงก็คงหนีไม่พ้น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และในขณะนี้ มิซูบิชิพร้อมแล้วที่จะยกระดับการเป็นผู้นำยานยนต์ให้ก้าวไปอีกขั้นกับการร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ระยะเวลา 2 ปี เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่มุ่งยกระดับความสะดวกสบายและปลอดภัยในการใช้งานให้แก่ผู้ขับขี่รถยนต์มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่ใช้ระบบหัวชาร์จ CHAdeMO ให้สามารถเชื่อมต่อได้ผ่านฟีเจอร์ PEA Volta AUTOCHARGE ภายใต้ PEA’ s mobile application ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ ยังมุ่งแสวงหาโอกาสและศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี V2X อีกด้วย
นาย เออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับที่สองกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อแผนการพัฒนาระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าของรัฐบาลไทย เรามั่นใจว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในครั้งนี้ จะเสริมให้กลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตรของเรา มีความแข็งแกร่งและเอื้อประโยชน์ ไม่เพียงแค่ช่วยเร่งสนับสนุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย แต่ยังช่วยส่งมอบความสะดวกสบายและความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี จากการชาร์จที่สถานี PEA Volta ทั่วประเทศ
ขณะเดียวกัน บันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ยังเปิดโอกาส ให้เราและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ทำการศึกษาการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี V2X เพิ่มเติม ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากการใช้งาน ผ่านระบบหัวชาร์จ CHAdeMO เท่านั้น ซึ่งหัวชาร์จดังกล่าว มีติดตั้งอยู่ในรถยนต์ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ซึ่งการศึกษาเทคโนโลยี V2X ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทิศทางการดำเนินงานของเราที่มุ่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Plan Package) ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น”
ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในการสนับสนุนการใช้นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการสถานีชาร์จและ PEA’ s mobile application เพื่อส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลด้านการชาร์จและจัดระบบการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างเครือข่ายที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งฟีเจอร์ใหม่ในแอปพลิเคชันมือถือของ PEA ที่มีชื่อว่า “PEA VOLTA AUTOCHARGE” จะช่วยให้ผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเจ้าของรถยนต์ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองได้อย่างรวดเร็วที่สถานีชาร์จ โดยข้อมูลของระบบหัวชาร์จ CHAdeMO จะถูกเก็บไว้บนระบบคลาวด์ หลังจากระบุตัวตนในแอปพลิเคชันเสร็จสมบูรณ์ การชาร์จไฟจะเริ่มต้นได้ในทันที สำหรับการชาร์จครั้งต่อไป เพื่อความสะดวกสบายจำเป็นต้องระบุตัวตน และความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ชาร์จไฟ
ปัจจุบัน สถานีประจุไฟฟ้า PEA VOLTA มีอยู่ทั้งหมด 73 แห่ง โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาควางแผนเปิดสถานีประจุไฟฟ้าทั้งหมด 263 แห่ง ภายในปี 2566 โดยจะเป็นสถานีที่รองรับหัวชาร์จแบบ CHAdemo จำนวน 163 สถานี สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี โดยหัวชาร์จแบบ CHAdeMO เป็นระบบหัวชาร์จเร็วที่มีศักยภาพชาร์จไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้ถึงระดับ 80% ภายในเวลา 25 นาที อย่างไรก็ตามการทำบันทึกข้อตกลงก็เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และตำแหน่งที่ตั้งสถานีชาร์จของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และ เดลต้า รวมถึงยกระดับประสบการณ์ใช้งานของผู้ขับขี่รถยนต์ชาวไทยผ่านการใช้งาน PEA’ s mobile application ให้ผู้ใช้สามารถค้นหาตำแหน่งที่ตั้งของสถานีชาร์จที่ครอบคลุมทั่วไทยได้อย่างสะดวกสบาย
มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี เป็นรถเอสยูวีปลั๊กอินไฮบริดรุ่นแรกของโลก และเป็นรถปลั๊กอินไฮบริดสัญชาติญี่ปุ่นรุ่นแรกที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 ผู้ขับขี่สามารถเพลิดเพลินกับการขับขี่ที่นุ่มนวลและเงียบสงบ พร้อมสัมผัสความสะดวกสบายและสมรรถนะของ “พลังงานสองระบบ” ทั้งไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ถือเป็นรถยนต์รุ่นเรือธงที่แสดงถึงความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า รถเอสยูวี และเทคโนโลยีขับเคลื่อน 4 ล้อของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส
นอกจากนี้ เนื่องด้วยมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี สามารถใช้งานแบบรถยนต์ไฮบริด รถยนต์รุ่นดังกล่าวจึงสามารถรองรับทั้งสำหรับการเดินทางไกลและการขับขี่แบบรถยนต์ไฟฟ้า 100% สำหรับการสัญจรในชีวิตประจำวัน ผู้ขับขี่จึงสามารถสนุกกับการเดินทางได้โดยปราศจากความกังวลด้านระยะทางขับขี่ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน และตอบโจทย์กับสถานการณ์โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้รถไฟฟ้าของประเทศ รถยนต์ไฟฟ้า ประเภทปลั๊กอินไฮบริด ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำที่สุด ในแง่มุมวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment – LCA) อีกด้วย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
- เปิดบริษัทน้องใหม่ Rêver Automotive นำ BYD รุกตลาดยานยนต์ EV
- ฝุ่นจะลดลง แต่สมรรถนะของเครื่องยนต์ไม่ลดตาม EV Tractor รถหัวลากไฟฟ้า จาก NEX Point
- ONiON T1c สามล้อบรรทุกสินค้า EV พร้อมแบตฯ ถอดเปลี่ยนได้ จาก ONiON Mobility
- ขสมก. จ้างเอกชนวิ่งรถ EV 224 คัน หวังช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมัน – ค่าซ่อม รวม 230 ล้านบาท
โดย…เวโย
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com