เมื่อวานนี้ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้มีการประชุมหารือระหว่างกรมการขนส่งทางรางกับผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (AERA1) เพื่อถอดบทเรียน กรณีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 เวลา 18.38 น. เกิดเหตุมีผู้โดยสารลื่นล้มตกบันไดเลื่อนทางขึ้น บริเวณทางเข้า-ออกหมายเลข 3 ของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสุรศักดิ์ (S5) ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากการจัดงานครบรอบการก่อตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 170 ปี ซึ่งมีการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้อง 3 วงดนตรี โดยมีนักเรียนและศิษย์เก่าเดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก ซึ่งงานจบเวลา 18.00 น. ผู้คนต่างได้ทยอยเดินทางกลับโดยใช้บริการรถไฟฟ้าจำนวนมาก

ต่อมาได้มีฝนตก ทำให้คนเบียดกันขึ้นบันไดเลื่อนรถไฟฟ้า BTS สถานีสุรศักดิ์จำนวนมากกว่าปกติ เพื่อเดินทางกลับบ้านและหลบฝน จึงทำให้มีคนลื่นล้มก่อนที่บันไดเลื่อนจะสุดทางด้านบน ทำให้เกิดการล้มทับคนที่กำลังขึ้นสู่ด้านบนลงสู่ด้านล่าง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย โดยมีอาการบาดเจ็บ เช่น แผลถลอก ฟกช้ำ และมีผู้บาดเจ็บบริเวณส้นเท้า

ภายหลังเกิดเหตุ BTS ได้ปิดให้บริการบันไดเลื่อนดังกล่าวชั่วคราว และจัดให้มีการดำเนินการตรวจสอบจากทางฝ่ายช่างบริษัทซ่อมบำรุงบันไดเลื่อน เบื้องต้นมีรายงานจากฝ่ายช่าง พบว่าบันไดเลื่อนไม่ได้เกิดเหตุขัดข้อง โดย BTS แจ้งว่าได้เข้าดูแลผู้บาดเจ็บ พร้อมทั้งประสานรถพยาบาล มูลนิธิกู้ภัยนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลในทันที และยินดีที่จะดูแลผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด

ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในกรณีที่มีการจัดกิจกรรมใกล้บริเวณสถานีรถไฟฟ้าที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก เช่น การจัดชุมนุม การจัดแสดงคอนเสิร์ต กิจกรรม Countdown ปีใหม่ ฯลฯ ทำให้มีคนเข้ามาใช้บริการที่สถานีรถไฟฟ้าจำนวนมาก

ดังนั้นจึงขอให้ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าต้องประสานข้อมูลเกี่ยวกับเวลาจัดกิจกรรมและเวลาเลิกกิจกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ที่สถานีนั้น ตามจุดต่างๆ เพื่อบริหารจัดการ ตั้งแต่ก่อนขึ้นบันไดเลื่อนและมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง

หากผู้โดยสารเริ่มหนาแน่นบนสถานี ต้องมีการจัดกลุ่มและลำดับการให้บริการ โดยคำนึงถึงจุดคอขวดต่าง ๆ เพื่อลดความหนาแน่น ตั้งแต่ชั้นพื้นดิน สู่ชั้นจำหน่ายตั๋ว และบนชั้นชานชาลา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุผู้ใช้บริการขึ้นบันไดเลื่อนจนหนาแน่น และติดขัดจนไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนตัวได้

ในกรณีจำเป็นที่เห็นว่าจะไม่สามารถบริหารจัดการบริเวณบันไดเลื่อนได้ หรือผู้โดยสารจำนวนมากหรือมีผู้พักคอยบนสถานีเนื่องจากฝนตก ให้พิจารณาจำกัดการใช้งานบันไดเลื่อน และแนะนำให้ผู้ใช้บริการขึ้นบันไดปกติที่อยู่ใกล้เคียงแทน รวมไปถึงการประกาศประชาสัมพันธ์บริเวณสถานี ให้ผู้ใช้บริการทราบ หากเกิดความหนาแน่น

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางราง ขอให้ทางผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบถึงการใช้บันไดเลื่อนอย่างปลอดภัยด้วย เช่น ไม่ผลักหรือหยอกล้อ งดเล่นโทรศัพท์ ผู้ปกครองดูแลเด็ก ระวังชายกางเกงและกระโปรง จับราวบันได ระมัดระวังการสวมใส่รองเท้ายางและปลายเชือกรองเท้า

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางจะได้จัดทำประกาศแนวทางป้องกันเหตุดังกล่าว และติดตามการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

โดย…เทลเลอร์

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com

 

 

Advertisement