เปิดซอง ข้อเสนอโครงการ BTS สายสีส้ม ด้านข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการเปิดซองข้อเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี) (สุวินทวงศ์) ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยแจ้งว่า บริษัทฯ ได้ทำหนังสือแจ้งรฟม. ลงวันที่ 9 กันยายน 2565 เพื่อขอรับซองเอกสารการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ครั้งที่1) คืนในวันที่ 12 กันยายน 2565 ช่วงเวลา 13.00 น. – 15.00 น. ที่ผ่านมา

บริษัทฯ ได้ส่งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ ไปติดต่อเพื่อรับเอกสารคืน แต่ทางด้านของรฟม. ได้มีการว่าจ้างบริษัทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่ง นำกล่องเอกสาร ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จำนวน 4 กล่อง มาส่งยังบริษัทฯ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ถ.พหลโยธิน ในเวลา 13.16 น. โดยแนบหนังสือขอส่งคืนซองเสนอราคา ลงวันที่ 8 กันยายน 2565 สวนทางกับตัวแทนบริษัทฯ ที่เดินทางไปรับเอกสารที่ รฟม. สร้างความแปลกใจให้แก่บริษัทฯ เนื่องจากได้ทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าว่าจะไปรับเอกสารด้วยตนเอง รวมถึงตั้งข้อสังเกตในเรื่องเอกสารที่มีการลงวันที่ก่อนที่บีทีเอสจะทำหนังสือขอรับซองคืนไปยังรฟม.

เปิดซอง ข้อเสนอโครงการ BTS สายสีส้ม ด้านข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน

ต่อมา ในเวลา 15.00 น. ณ อาคารบีทีเอสสำนักงานใหญ่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา พร้อมด้วยผู้บริหาร และทีมฝ่ายกฎหมาย ได้ทำการเปิดซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งเป็นซองที่ 3 ต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทราบถึงราคาที่ทางด้านบริษัทฯ ได้นำเสนอในการประมูลครั้งแรกเมื่อปี 2563 ตัวเลขที่บริษัทฯ ได้นำเสนอประกอบไปด้วยสองตารางตามแบบฟอร์มของรฟม. ตารางแรก คือการขอรับเงินสนับสนุนค่างานโยธารวมประมาณ 87,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยอีกประมาณ 3,200 ล้านบาท รวมเป็น ประมาณ 90,000 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นมูลค่า ณ ปัจจุบัน ก็อยู่ที่ 79,820.40 ล้านบาท

ตารางที่ 2 คือ เมื่อเปิดให้บริการแล้วบริษัทฯ จะแบ่งรายได้ให้ รฟม. ซึ่งตลอดเวลาสัญญา 30 ปี บริษัทฯ แบ่งผลประโยชน์ให้ รฟม. จำนวนเงินประมาณ 134,300 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นมูลค่า ณ ปัจจุบัน (NPV) ก็อยู่ที่70,144 ล้านบาท สรุปได้ว่า บริษัทฯ ขอสนับสนุนเงินจากรัฐบาล (ภายหลังจากหักเงินแบ่งผลประโยชน์ที่เสนอแบ่งให้รฟม.) คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ประมาณ 9,600 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 รายนั้น รายหนึ่งขอเงินสนับสนุน (ภายหลังจากหักเงินแบ่งผลประโยชน์ที่เสนอแบ่งให้รฟม.) คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ประมาณ 78,000 ล้านบาท อีกรายขอเงินสนับสนุน (ภายหลังจากหักเงินแบ่งผลประโยชน์ที่เสนอแบ่งให้รฟม.) คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ประมาณ 102,000 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทฯ ขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล (ภายหลังจากหักเงินแบ่งผลประโยชน์ที่เสนอแบ่งให้รฟม.) อยู่ที่ประมาณ 9, 600 ล้านบาท ตัวเลขจึงต่างกันถึงประมาณ 68,400 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ต้องไปพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมว่ามีความแตกต่างกันในรายละเอียดอื่นหรือไม่ เช่นอัตราคิดลด โดยในส่วนของรายละเอียดของการเสนอราคาของ

เปิดซอง ข้อเสนอโครงการ BTS สายสีส้ม ด้านข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน

บริษัทที่ได้รับการคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน นั้นมีอย่างไรบ้าง จึงอยากให้รฟม.นำเสนอข้อมูลทั้งหมด ว่าในข้อเสนอที่ยื่นมานั้น มีการขอเงินสนับสนุนอยู่ที่เท่าใด และมีส่วนแบ่งรายได้อยู่ที่เท่าใด อัตราคิดลดเท่าใด เพื่อชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นให้ประชาชนได้รับทราบ และบริษัทฯ จะได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเมื่อได้รับข้อมูลดังกล่าว นายสุรพงษ์ กล่าวต่อ เรื่องเกณฑ์การประมูลที่ ดูไม่ยุติธรรม กีดกัน โดยการประมูลครั้งที่ 1 ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์การเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้าในประเทศไทย ในขณะที่การประมูลครั้งที่ 2 ผู้ยื่นข้อเสนอไม่จำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ดังกล่าวในประเทศไทย สามารถอ้างอิงประสบการณ์จากต่างประเทศได้

คุณสมบัติของผู้รับเหมาการประมูลครั้งที่ 1 รฟม. ไม่ได้กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีผลงานด้านโยธาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด สามารถอ้างอิงผลงานจากต่างประเทศได้ อีกทั้งผลงานเหล่านั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ สามารถอ้างอิงผลงานที่กำลังทำอยู่ได้ แต่การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีผลงานด้านโยธาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด และที่สำคัญ จะต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จ อีกด้วย ในกรณีที่เป็นผู้รับเหมาต่างชาติต้องมาเข้าร่วมกับผู้รับเหมาไทยที่มีผลงานตามที่กำหนดเพื่อเป็นผู้รับจ้าง

การประมูลครั้งที่ 2 ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอหาผู้รับเหมาที่มีผลงานด้านโยธาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด และต้องเป็นผลงานที่แล้วเสร็จมาร่วมประมูลได้ยาก เนื่องจากทั้งโลกมีผู้รับเหมาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนแค่ 2 รายเท่านั้น ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติบางรายไม่สามารถร่วมยื่นข้อเสนอได้ดังนั้น การกำหนดคุณสมบัติของผู้รับเหมาในการประมูลครั้งที่ 2 จึงมีลักษณะไม่เปิดกว้างเหมือนกับการประมูลครั้งที่ 1ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ กล่าวถึง เรื่องคดีฟ้องร้อง ที่อยู่ศาลปกครองมีอยู่ 3 คดี โดยมีรายละเอียดดังนี้

เปิดซอง ข้อเสนอโครงการ BTS สายสีส้ม ด้านข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน

คดีที่ 1 ที่บริษัทฯ ฟ้องละเมิดในการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ หลังขายซองไปแล้ว ซึ่งศาลปกครองกลางได้ตัดสินไปแล้วว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ชอบ แต่บริษัทฯ ได้เรียกร้องความเสียหายไป 500,000 บาท แต่ศาลไม่ได้ให้ตรงนี้ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์ของทั้งสองฝ่าย และในวันที่ 15 กันยายน นี้ ศาลปกครองสูงสุด จะนัดพิจารณาคดีครั้งแรก

ส่วนคดีที่ 2 คือคดีที่บริษัทฯ ฟ้องว่ามีการยกเลิกประมูลโดยไม่ชอบ ภายหลังจากที่ รฟม. ได้มีการเปลี่ยนเกณฑ์ ซึ่งศาลปกครองกลางได้ตัดสินแล้วเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ว่าการยกเลิกประมูลไม่ชอบขอให้มีการเพิกถอนคำสั่งยกเลิกประมูล ซึ่งแปลว่าการประมูลครั้งแรกก็ยังอยู่ แต่ทาง รฟม. แจ้งว่าอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งต้องรอศาลปกครองสูงสุดนัดอีกครั้ง

สำหรับคดีที่ 3 คือ การที่ออก ข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ใหม่ บริษัทฯ เห็นว่าเป็นการกีดกัน และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนอกจากนั้น บริษัทฯ เห็นว่าการประมูลที่ยกเลิกไปแล้ว ศาลปกครองกลางก็มีคำพิพากษาว่ายกเลิกโดยมิชอบ แสดงว่าของเก่ายังอยู่แล้วก็ไปประมูลใหม่ ทำได้หรือไม่อย่างไร อันนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง

แล้วก็มีคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่บริษัทฯ ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีมติยกเลิกการประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีประกาศลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ซื้อ และยื่นเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย ซึ่งศาลจะนัดอ่านผลไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 27 กันยายน นี้ เช่นกัน

เปิดซอง ข้อเสนอโครงการ BTS สายสีส้ม ด้านข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน

สุดท้าย นายสุรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ หากไม่มีการยกเลิกการประมูลในครั้งแรก โครงการจะไม่ล่าช้ามากว่า 2 ปี และประเทศจะไม่เสียผลประโยชน์ และข้อเสนอที่บริษัทฯ เสนอขอเงินสนับสนุนจากรัฐ (ภายหลังจากหักผลประโยชน์ที่เสนอให้ รฟม.) ไปนั้นเป็นจำนวนที่ต่ำ และให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ประเทศได้เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ บริษัทฯ รู้สึกเสียดายเงินงบประมาณของประเทศ ที่จะต้องสูญเสียมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าบริษัทฯ

มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานรถไฟฟ้ามาแล้วหลายสายตามที่ทุกท่านทราบดี อีกทั้งยังได้รับการการรันตีระดับสากล ดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ อันดับ 1 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของ DJSI (DJSI INDUSTRY LEADER) อีกด้วย

 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

โดย…เวโย

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com

 

 

 

 

Advertisement