ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าธุรกิจขนส่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีผู้ประกอบการขนส่งจำนวนมากที่ก่อร่างสร้างตัวและเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ โดยการเริ่มจากเป็นลูกน้องของบริษัทรายใหญ่ เมื่อมีช่องทางก็ออกมาทำธุรกิจเป็นของตนเองเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME พูดง่ายๆ ว่า “พัฒนาจากพนักงานมาเป็นเถ้าแก่เอง”
กรณีนี้ มีหลายคนอาจไม่ได้เรียนมาสูง แต่เป็นคนที่มีความขยันรู้จักช่องทางในการสร้างการเติบโตและสร้างฐานลูกค้าใหม่ แต่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการหรือเถ้าแก่เหล่านี้อาจเริ่มประสบปัญหาในการบริหารจัดการ เนื่องจากในช่วงก่อตั้งธุรกิจอาจเริ่มจากการให้คนในครอบครัวมาช่วยหรือใช้คนทำงานเพียงไม่กี่คนจึงไม่มีปัญหาใหญ่ที่แก้ไขไม่ได้
แต่เมื่อธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้น มีการจ้างคนทำงานมากขึ้น แน่นอนว่าปัญหาหลายอย่างนั้นจะเริ่มตามมา ทำให้เถ้าแก่บางคนเริ่มท้อใจและอยากรักษาธุรกิจของตนเองให้อยู่ในระดับเดิมเพราะเกรงว่าจะควบคุมดูแลกิจการไม่ได้ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ถือเป็นแนวคิดที่อันตรายและจะทำให้เสียโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีหน่วยงานรัฐหลายแห่งที่ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาความรู้ความสามารถในการบริหารธุรกิจ ซึ่งช่วยพัฒนาศักยภาพได้ เช่น โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการขนส่ง ของกรมการขนส่งทางบก, โครงการพัฒนาผู้ประกอบการรายใหม่ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, โครงการปรับแผนธุรกิจของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, โครงการเสริมสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจของกรมพัฒนาผู้ประกอบการ กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
ดังนั้น เถ้าแก่ที่มีวิสัยทัศน์อยากให้กิจการเจริญก้าวหน้า และสามารถพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโตไปเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมั่นคงต้องมีการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง อีกทั้งต้องหมั่นติดตามเทรนด์โลกในเรื่องต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ โดยมีแนวทาง ดังนี้
1.พัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะบริหารธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงแข็งแกร่งได้ จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการบริหารตลาด บริหารบัญชีและการเงิน การบริหารจัดการทั่วไป และการบริหารด้านการบริการ ความรู้ในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการขนส่งสามารถเข้าอบรมสัมมนาได้ตามโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่จัดให้อบรมและสัมมนาฟรีทุกปีงบประมาณ หรือหากเป็นเถ้าแก่ที่ไม่ได้เรียนจบด้านบริหารก่อน อาจหาวิธีไปศึกษาต่อตามสถาบันที่มีการสอนในภาคค่ำหลังเวลาทำงานหรือในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ได้ เพราะความรู้เรื่องการจัดการมีความจำเป็นอย่างมากในการวางแผนและนำพาธุรกิจให้เติบโตได้
2.มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทำให้ตนเองเป็นที่ยอมรับ
เพราะการเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นต้องควบตำแหน่งผู้นำขององค์กร ดังนั้น จึงต้องสร้างทักษะที่ผู้นำควรมี โดยพัฒนาความสามารถของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของลูกน้องและคนรอบข้างให้ได้ ซึ่งการสร้างทักษะเหล่านี้อาจเริ่มจากการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองผ่านแนวทางต่างๆ เช่น การช่างสังเกต, การชอบบันทึก, ฝึกการนำเสนอ, รู้จักการรับฟังปัญหาของลูกน้อง, รู้จักการถามไถ่ลูกน้อง และการวิเคราะห์หาสาเหตุ เป็นต้น
3.หาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างสติปัญญา
จริงอยู่ที่บางคนอาจมีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารงานขนส่งมาเกินกว่าครึ่งชีวิต แต่กับความรู้และประสบการณ์อย่างอื่นที่มีอยู่ยังอาจยังไม่เพียงพอ ที่จะทำให้ตนเองตามเท่าทันโลก ดังนั้นจึงต้องก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ โดยเฉพาะความรู้ข้อมูลทางการตลาด เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เถ้าแก่หรือผู้ประกอบการขนส่งสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้การวางแผนงานสำเร็จได้ดีขึ้น
4.เรียนรู้และปรับใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์
ในยุคที่โลกธุรกิจเข้าสู่ Digital Transformation ภาคธุรกิจขนส่งได้นำเทคโนโลยีเทเลเมติกส์มาช่วยในกระบวนการทำงาน เก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบของดิจิทัล และสามารถดูผลการดำเนินงานที่เข้าใจง่ายและชัดเจนผ่านการแสดงผลบน Dashboard ของแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่มีการเชื่อมโยงกับอุปกรณ์ ด้วยรูปแบบของสถิติ คะแนน หรือเกรดจากการวิเคราะห์และประเมินผล ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างง่ายดายและสะดวกยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่าง ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีเทเลเมติกส์ได้เข้ามามีบทบาทกับอุตสาหกรรมยานยนต์ และต่อยอดสู่นวัตกรรมการขนส่ง ด้วยการทำระบบหรืออุปกรณ์พื้นฐานที่ประกอบมาพร้อมกับตัวรถจากโรงงานผลิต เพราะด้วยความที่เทเลเมติกส์เป็นโซลูชัน ที่ทำหน้าที่เก็บรวมรวบและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างรถและผู้ใช้รถให้เป็นหนึ่งเดียวผ่านเทคโนโลยี IoT โดยการเชื่อมต่อและผสมผสานอุปกรณ์หลายชนิดเข้าด้วยกัน ผ่านการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ต และส่งข้อมูลมารวบรวมไว้ยัง Cloud Server ทำให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data จึงเหมาะกับการนำไปใช้ในวงการขนส่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก
5.สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าด้วยบริการที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ
จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนส่งในยุคปัจจุบันมีดีมานด์จากแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้บริการขนส่งต้องมีความสะดวกและรวดเร็วในการบริการยิ่งขึ้น เช่น หากขนส่งเจ้าไหนสามารถทำเวลาได้เร็วกว่าเจ้าอื่น เจ้านั้นก็จะได้รับความนิยมจากลูกค้าหรือผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันต้องสร้างมาตรฐานการขนส่งให้มีคุณภาพด้วย โดยต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายสินค้าหรือพัสดุก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งหากทำได้ครบตามที่กล่าวมาก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและความภักดีกับลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ขนอส่งได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนที่ BUS & TRUCK นำมาเป็นตัวอย่างให้เห็นเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น เถ้าแก่หรือผู้ประกอบการขนส่งโปรดจงจำเอาไว้ว่า ตนเองอยู่ในสถานะของเจ้าของธุรกิจ จึงจำเป็นต้องมีภาวะความเป็นผู้นำเป็นธรรมดา เมื่อต้องทำงานร่วมกับบุคลากรหลายระดับในภาวะที่แตกต่างกันออกไปตามระยะการเติบโตของกิจการบริบทของความเป็นผู้นำก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ที่สำคัญหากมีงานบางอย่างที่เกินตัวหรือตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญต้องกล้าลงทุนจ้างบุคลากรมืออาชีพมาช่วยงานดีกว่าดันทุรังทำเองหรือให้เครือญาติเข้ามาช่วยเพราะความเกรงใจ ทั้งยังต้องรู้จักปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริหารให้สอดรับกับยุคสมัย จึงจะช่วยทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
- “คนทำธุรกิจขนส่ง”ห้ามมองข้าม กับ 4 ตัวแปรหลักเรื่องการใช้รถที่จะช่วยลดต้นทุนได้ในสภาวะน้ำมันแพง
- ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ยุคใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับ Digital Transformation
- 10 เส้นทางรวย ด้วยการสร้างอาชีพจาก “รถกระบะ” เริ่มต้นง่ายทำได้จริง
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com