สินค้าฮาลาลนับว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีมูลค่าตลาดทั่วโลกเกินกว่า 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยเองนับว่ามีความได้เปรียบในด้านโลจิสติกส์ ทั้งยังมีสินค้าที่มีความหลากหลายสอดรับกับต้องการของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ล่าสุด จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2565 ระบุว่า ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล 5,562 ราย และมีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลมากกว่า 160,538 รายการ

เนื่องด้วยปัจจุบันในตลาดโลกมีผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมอยู่ประมาณ 2,000 ล้านคน ดังนั้น หากหากลยุทธ์เข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดอาหารจากประเทศที่มีชาวมุสลิมให้มากขึ้นได้ก็จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก จึงจำเป็นต้องให้ความสนใจในเครื่องหมายนี้อย่างจริงจังรวม ทั้งผู้ประกอบการขนส่งที่เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้ และอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อเตรียมความพร้อมของการผลิต สร้างฐานที่แข็งแกร่งให้กับประเทศต่อไป

ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังระบุว่าตลาดอาหารฮาลาล หรือตลาดอาหารสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม มีความสำคัญขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสามารถขยับจากการเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ไปเป็นตลาดหลัก (Mass Market) หรือตลาดที่มีผู้บริโภคเป้าหมายจำนวนมากและหลากหลายกลุ่มได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ

โดยมีปัจจัยสำคัญคือการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลก และกระแสบริโภคอาหารปลอดภัย ซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ในอนาคตคาดว่าตลาดอาหารฮาลาลโลกจะเติบโตยิ่งขึ้นตามความต้องการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย และตรวจสอบแหล่งที่มาได้จากผู้บริโภคทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม และในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารชั้นนำของโลก ทั้งยังมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่ทันสมัย ผู้ประกอบการสินค้าอาหารในไทยจึงไม่ควรพลาดโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าว

          

ปัจจัยที่นำไปสู่การยกระดับโลจิสติกส์ที่จะขนส่งสินค้าฮาลาล

เพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วของอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลในตลาดโลกทำให้ ผู้ประกอบการตั้งแต่ผู้ผลิตอาหาร ไปจนถึงธุรกิจขนส่งทั่วโลกหันมาจับตลาดนี้กันมากขึ้น จึงส่งผลทำให้เกิดดีมานด์หรือความต้องการระบบโลจิสติกส์ที่จะขนส่งสินค้าฮาลาลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกระบวนการขนส่งสินค้าฮาลาลจะมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นจากการขนส่งทั่วไป เพราะแม้ว่าตัวสินค้าอาจได้รับรองฮาลาลแล้ว แต่ในกระบวนการที่เกี่ยวเนื่องกับขนส่งหลายคนอาจยังไม่มีความชัดเจนมากนัก

ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจมีข้อกังวลเรื่องการปนเปื้อนสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม ดังนั้น เพื่อเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจสินค้าและฮาลาลของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการส่งออกกลุ่มสินค้าฮาลาล ให้ได้รับความน่าเชื่อถือในกลุ่มตลาดของผู้บริโภคทั้งที่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามและกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป  แม้ในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีฮาลาลโลจิสติกส์ที่ประกาศออกมาใช้อย่างชัดเจน กรมการขนส่งทางบกจึงได้วางแนวทางปฏิบัติสำหรับการขนส่งสินค้าฮาลาลที่เหมาะสมตามบทบัญญัติของหลักศาสนาอิสลาม และมาตรฐานฮาลาลสากล เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดฮาลาลในอนาคต โดยอิงจากมาตรฐานอาหารฮาลาลแห่งชาติมาประบใช้ให้สอดคล้องกับการขนส่งสินค้าฮาลาล โดยสามารถแบ่งเป็นกิจกรรมหลัก ดังนี้

  1. การปฏิบัติการขนส่ง

1.1 อาหารและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาล ไม่สามารถขนส่งปะปนกับสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรองได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องทำ ดังนี้

– ไม่จัดวางสินค้าบนพาเลทเดียวกัน

– ป้องกันการสัมผัสกันของสินค้าที่ได้รับการรับรองฮาลาล และไม่ได้รับรอง

1.2 อุปกรณ์ที่ใช้เคลื่อนย้ายสินค้าต้องแยกกันชัดเจน หรือทำความสะอาดก่อนใช้ตามหลักศาสนา

1.3 มีการติดสลากบ่งชี้ไปตลอดการจัดส่ง

  1. การทำความสะอาดรถและห้องเย็นต้องเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม ให้มีความปลอดภัยระดับสากล

2.1 จัดเตรียมรถห้องเย็นไปจุดล้างทำความสะอาด

2.2 พนักงานแต่งตัวรัดกุมและถูกสุขลักษณะ พร้อมทั้งล้างมือด้วยสบู่ดิน 1ครั้ง และตามด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน 6 ครั้ง

2.3 ล้างรถเพื่อกำจัดเอาสิ่งสกปรกตามหลักศาสนาอิสลามออก

2.4 ละลายสบู่ดินกับน้ำในถังเพื่อใช้ทำความสะอาด

2.5 ทำความสะอาดรถด้วยน้ำด้วยสบู่ดิน 1 ครั้ง ตามด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน 6 ครั้ง และพักรอให้แห้งสนิท

2.6 ตรวจสอบสภาพความพร้อมตู้ห้องเย็น พร้อมบันทึกผลการประเมิน ก่อนนำไปใช้ขนส่งสินค้า

  1. มาตรฐานรถห้องเย็น

วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตห้องเย็น ต้องไม่มีส่วนประกอบของสิ่งสกปรกตามหลักศาสนาอิสลาม

  1. พนักงานขับรถ

พนักงานขับรถควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งควรได้รับการอบรมเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย วิถีชีวิตของมุสลิม, ความสำคัญของอาหารต่อชาวมุสลิม, ความรู้เบื้องต้นเที่ยวกับอาหารฮาลาลตามหลักศาสนบัญญัติอิสลามและมาตรฐานอาหารฮาลาลแห่งชาติ

แม้ในปัจจุบันประเทศไทยเองยังมีมาตรฐานการขนส่งสินค้าฮาลาลในปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการภายใต้มาตรฐานที่ชัดเจน แต่ผู้ประกอบการขนส่งสามารถดำเนินงานภายใต้มาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ ร่วมกับมาตรฐานคุณภาพการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหาร ด้วยรถบรรทุกแบบ​ควบคุมอุณหภูมิ (Q Cold Chain) ควบคู่กับมาตรฐานคุณภาพและบริการขนส่งด้วยรถบรรทุก (Q Mark) จากกรมการขนส่งทางบก เพื่อยกระดับมาตรฐานการขนส่งให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสร้างคาวมเชื่อมั่นให้กับตัวสินค้าหรือผู้ว่าจ้าง ตลอดจนกลุ่มผู้บริโภคปลายทาง ที่สำคัญยังเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถเข้าไปชิงส่วนแบ่งงานขนส่ง จากตลาดสินค้าฮาลาลที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ได้อีกด้วย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

โดย…น้าเช

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com

Advertisement