รู้หรือไม่? ว่านับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งยังมีสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจเกิดขึ้นจนสร้างผลกระทบต่อการค้าและราคาน้ำมันของโลก จนเกิดผลกระทบของภาวะเงิน ทำให้สินค้าและบริการตลอดจนต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจโดยทั่วไปต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้จึงส่งผลกับผู้ประกอบการขนส่งทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งบทความนี้ BUS & TRUCK จะขอพูดถึงแนวคิดของระบบลีน (LEAN) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการลดสิ่งที่ไม่เกิดคุณค่า และเปลี่ยนความสูญเปล่าให้เกิดประโยชน์ได้

แนวคิดระบบลีน (LEAN) คืออะไร ?

สำหรับแนวคิดระบบลีน (LEAN)  เป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นมาจากระบบการผลิตรถยนต์ของโตโยต้า หรือที่เรารู้จักกันในนาม Toyota Way โดยเน้นการผลิตเฉพาะชิ้นส่วนหรือสินค้าที่จำเป็นตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ และผลิตให้ทันตามเวลาที่ลูกค้ากำหนด พร้อมกับมุ่งกำจัดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตหรือกำจัดกิจกรรมที่ทำไร้ประโยชน์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เกิดการประสิทธิภาพ และใช้ต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด

ซึ่งต่อมาหลายภาคธุรกิจจึงนำแนวคิดนี้ไปใช้ในธุรกิจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมภาคการบริการ เช่น โรงพยาบาล และโรงแรม รวมทั้งอุตสาหกรรมธุรกิจโลจิสติกส์ที่ภาคการขนส่งต้องเจอ Pain Point แฝงตัวอยู่โดยไม่รู้วิธีจัดการ

เริ่มอย่างไร? หากภาคขนส่งต้องการใช้แนวคิด LEAN

ปัจจุบันผู้ประกอบการขนส่งได้มีการนำแนวคิดของระบบลีน มาประยุกต์ใช้เพื่อขจัดและลดความสูญเปล่าในกระบวนการต่างๆ เนื่องจากธุรกิจขนส่งเป็นธุรกิจที่มีหลายกิจกรรมจึงทำให้ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ นั้นเพิ่มขึ้นมาด้วย  ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำระบบลีนไปปรับใช้ในธุรกิจได้โดยมีแนวทาง ดังนี้

ใช้พลังงานทางเลือก

ปัจจุบันราคาน้ำมันที่เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ที่ใช้ในงานขนส่งได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนส่งโดยตรง ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเลิกใช้น้ำมันแล้วหันมาใช้พลังงานทางเลือกมากยิ่งขึ้น ซึ่งในประเทศไทยได้มีการนำก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG หรือที่เรียกกันแบบว่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลว ระเหยง่าย เป็นผลผลิตที่ได้จากการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่น มาใช้ในยานยนต์กว่า 50 ปีแล้ว เพราะมีราคาถูกกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งในช่วงแรกจะใช้ในรถแท็กซี่และรถสามล้อเครื่อง โดยมีการดัดแปลงเครื่องยนต์ที่น่าเข้ามาจากญี่ปุ่น ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ที่ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงเกือบทั้งหมดของจำนวนรถแท็กซี่ที่มีอยู่ในขณะนี้

ขณะที่การใช้ CNG ในยานยนต์ขนาดใหญ่หรือรถเพื่อการพาณิชย์ที่เป็นเครื่องยนต์ดีเซล ก็มีการติดตั้งอุปกรณ์ CNG ระบบเชื้อเพลิงร่วม ซึ่งแนวทางนี้อาจไม่ต้องมีการดัดแปลงเครื่องยนต์เพียงแค่ติดตั้งอุปกรณ์ เพิ่มเติม โดยเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลในการจุดระเบิด เมื่อมีการเผาไหม้เกิดขึ้นจึงใช้ CNG เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้แทนน้ำมันดีเซล ทั้งนี้ CNG เป็นก๊าซธรรมชาติเกิดจากการทับถมของฟอสซิลเหมือนน้ำมันและถ่านหินแต่อยู่ในรูปก๊าซมีส่วนประกอบหลักอย่างมีเทน โดยจะใช้วิธีขุดเจาะเพื่อนำมาจัดเก็บและใช้งาน

นอกจากนี้ ยังมียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ค่ายรถนำมาเป็นนวัตกรรมให้กับวงการรถเพื่อการพาณิชย์ด้วยการเปิดตัวรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า รถโดยสารไฟฟ้า ซึ่งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมขนส่งในเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไรที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการด้วยค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่าเครื่องยนต์สันดาป (เรื่องที่เกี่ยวข้อง CP FOTON เปิดตัว “รถบรรทุกไฟฟ้า”, ‘NEX’ ควงแขน ‘ตันจงฯ’ รุกตลาดรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ )

บูรณาการระบบการขนส่ง

ปัจจุบันมีวิธีการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นการผสมผสานการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป เช่น การขนส่งทางถนนการขนส่งทางราง การขนส่งทางน้ำ และการขนส่งทางอากาศ เพื่อให้สามารถทันต่อการตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยคำนึงถึงต้นทุนการขนส่งของรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะนี้ที่มีดีมานด์การใช้การขนส่งสินค้าทางราง จนนำไปสู่การก่อตั้งธุรกิจใหม่ของกลุ่มทุนที่ต้องการชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้

หาวิธีขนส่งสินค้าให้ได้ทั้งเที่ยวไปและกลับ

ปัจจุบันภาคการขนส่งของไทยยังถือว่าอยู่ในระดับที่มีต้นทุนสูงมาก ซึ่งการขนส่งทางถนนยังถือเป็นตัวเลือกที่ผู้ประกอบการเลือกใช้เป็นหลักอยู่นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เพาะสามารถเข้าถึงได้ง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าหลังการวิ่งขนส่งไปยังปลายทางเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องตีรถเที่ยวเปล่ากลับมายังต้นทาง ก็จะมีปัญหาเรื่อง “รถเที่ยวเปล่า” ไม่มีสินค้าบรรทุก ซึ่งการที่ต้องขับรถกลับโดยไม่ได้บรรทุกสินค้านั้น ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายและพลังงานเชื้อเพลิง เรียกได้ว่า เป็นการสูญเสียทรัพยากรโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

ดังนั้น จึงมีกลุ่มนักธุรกิจสตาร์ทอัพคิดสร้างแพลตฟอร์มจองรถบรรทุกเที่ยวเปล่าเพื่อหางานขนส่งให้กับผู้ให้บริการขนส่งที่ยังต้องวิ่งเที่ยวเปล่าให้มีงานและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งครอบคลุมรถทุกประเภท เช่น รถ 4ลอ, รถ6 ล้อ, รถ 10ล้อ, รถ 18ล้อ, รถ 22ล้อ และรถเทรลเลอร์ ช่วยแก้ไขปัญหารถเที่ยวเปล่าซึ่งเป็นต้นทุนที่ทางผู้ขนส่งต้องแบกรับได้

วางแผนการใช้รถอย่างมีประสิทธิภาพ

ในภาคธุรกิจขนส่ง รถที่ใช้งานโดยทั่วไปจะมีรอบระยะเวลาในการบำรุงรักษา ดังนั้น จึงต้องสังเกตการทำงานของรถในแต่ละวันว่าเป็นปกติหรือไม่ ถ้าพบว่ามีสิ่งผิดปกติ ควรรีบทำการตรวจหาสาเหตุ พร้อมหาทางแก้ไข ซึ่งต้องวางแผนการบำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพที่ดี และไม่ปล่อยให้รถเสีย หรือต้องหยุดซ่อมกะทันหัน เพราะจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้ การบำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพที่ดี ยังส่งผลดีตามมาอีกมากมาย เช่น ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษารถส่งผลให้ต้นทุนต่ำลง, ส่งสินค้าได้อย่างต่อเนื่องตามแผนการผลิตโดยไม่มีการหยุดชะงัก และวิ่งงานต่อเนื่องได้เป็นต้น

ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าช่วย

ปัจจุบันมีบริษัทที่พัฒนาโซลูชันโลจิสติกส์ ที่สามารถทำได้แต่การวางแผนจัดรถและสินค้าตามออเดอร์สั่งซื้อ การจัดสรรเส้นทางวิ่งรถที่ประหยัดค่าใช้จ่ายสูงสุด การติดตามตำแหน่งรถและตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถ การวิเคราะห์การวิ่งรถจริงเปรียบเทียบกับแผนงานเพื่อการติดตามแบบเรียลไทม์และสรุปรายงานการประเมินประสิทธิภาพการทำงาน การตรวจเช็คระบบเครื่องยนต์ของรถเพื่อป้องกันความเสียหายและแจ้งเตือนการบำรุงรักษารถ การสรุปรายงานด้วย Dashboard

ถ้าคนขับเข้าใจรถ ช่วยลดต้นทุนได้

หากคนขับรถไม่ศึกษาและทำ ความเข้าใจรถให้ดี ถึงบริษัทขนส่งจะมีรถรุ่นใหม่หรือทันสมัยเพียงใดก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจทำให้เกิดค่าบำรุงรักษาที่เกิดจากการใช้ผิดประเภทหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมมากขึ้น ดังนั้น ผู้ขับรถต้องมีความรู้เกี่ยวกับรถ รวมถึงเทคโนโลยีของรถที่ผลิตขึ้นมาในรุ่นใหม่ตามไปด้วย

ที่สำคัญต้องศึกษาและมีความเข้าใจเรื่องกำลังของเครื่องยนต์ แรงม้า แรงบิดและรอบของเครื่องยนต์ที่เหมาะสมในขณะใช้งาน-ต้องมีความเข้าใจชนิดของเกียร์และการใช้เกียร์ต่าง ๆ ที่ถูกต้อง เช่น การเปลี่ยนเกียร์ที่รอบเครื่องยนต์ต่ำ หรือให้อยู่ในช่วงที่ประหยัดน้ำมันสูงสุด รวมทั้งการใช้เบรกอย่างถูกต้อง เช่น การใช้เบรกไอเสียขณะลงทางลาดชัน และการชะลอรถก่อนทำการหยุดรถเพื่อการประหยัดน้ำมัน เป็นต้น เพื่อให้สามารถขับรถได้

ที่ BUS & TRUCK กล่าวมาทั้งหมด ถือเป็นอีกแนวทางในการลีนธุรกิจขนส่ง ให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ หากผู้ประกอบการขนส่ง นำไปประยุกต์ได้ก็อาจช่วยยกระดับสู่มาตรฐานการดำเนินงานให้สูงขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของการทำกำไรให้กับธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพได้

 

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ

 

โดย…น้าเช

อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่

เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK

เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com

Advertisement