ในช่วงเทศกาลไม่ว่าจะสงกรานต์หรือปีใหม่ แน่นอนว่าใครหลายคนต้องขับรถข้ามจังหวัดเพื่อกลับไปหาครอบครัว ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และหนึ่งในสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้ว คือ “หลับใน” ซึ่งถือเป็นภาวะของร่างกายที่เข้าสู่ภาวะหลับตื้นโดยไม่ตั้งใจ สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือในบางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรค และผลข้างเคียงจากยา หรืออาจมาจากพฤติกรรมการนอนหลับพักผ่อนที่เหมาะสมนั่นเอง
ทั้งนี้ หลายคนมักมองข้ามและไม้ตระหนักถึงภาวะหลับใน เพราะคิดว่าสามารถควบคุมความง่วงขณะขับรถได้ ทั้งที่ความจริงแล้วความง่วงสามารถทำให้หลับกลางอากาศหรือเกิดภาวะหลับในได้ ซึ่งภาวะหลับในจะเป็นอาการสับสนระหว่างการหลับและตื่น โดยอาจเกิดเป็นการวูบหลับอย่างเฉียบพลันแบบไม่ทันตั้งตัวในช่วงเวลา 1 – 2 วินาที ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้
สัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะหลับใน
อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้แล้วว่า “หลับใน” เป็นสภาวะสับสนระหว่างการหลับและตื่น ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น หากกำลังขับรถแล้วรู้สึกว่ามีอาการเหล่านี้ นั่นหมายความว่าอาจนำไปสู่อันตรายหรือหายนะ และอาจเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจนเกิดความสูญเสียได้ ซึ่งควรพึงระวัง ดังนี้
- หาวบ่อยและต่อเนื่อง
- ลืมไปว่าขับผ่านอะไรมา ในช่วง 2-3 กิโลเมตร
- กะพริบตาถี่ ๆ ลืมตาไม่ขึ้น
- มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร
- ใจลอยไม่มีสมาธิ
- รู้สึกหนักศีรษะ หงุดหงิด กระวนกระวาย
- ขับรถส่ายไปมาหรือออกนอกเส้นทาง
พฤติกรรมการนอนมีความสำคัญ ช่วยป้องกันการหลับในได้
1.การอดนอน
การนอนน้อยและนอนไม่พอ หรือนอนต่ำกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการหลับใน เนื่องจากสมองบางส่วนอาจหยุดทำงานชั่วคราว ส่งผลให้เกิดภาวะง่วงเฉียบพลัน และงีบหลับแบบไม่ได้ตั้งตัวจนเกิดภาวะหลับในได้
2.เปลี่ยนเวลานอนบ่อย
การนอนไม่เป็นเวลาจะส่งผลให้สมองมึนงงและทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะสมองเสื่อม เพราะปกติสมองจะจำเวลานอนและเกิดความง่วงในเวลานั้น หากเปลี่ยนเวลาเข้านอนบ่อยครั้ง จะทำให้เวลานอนไม่ง่วง นอนได้น้อยลง และหลับไม่เต็มอิ่ม เช่น ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์เข้านอนดึกมากหลังตี 4 ไปตื่นอีกทีเที่ยงวัน ส่วนวันธรรมดาเข้านอนตอน 3 ทุ่ม แล้วตื่นนอนตี 5 เป็นต้น
2.เวลาการนอนไม่ปกติ
คนที่มักนอนดึกตื่นสาย จะได้รับผลเสียต่อร่างกาย คือ ฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง รู้สึกอ่อนเพลีย นอนไม่เต็มอิ่ม เช่น คนที่เข้านอนตี 5 แล้วตื่นนอนบ่ายโมง คุณภาพการนอนอาจไม่ดีเท่ากับคนที่เข้านอนตอน 4 ทุ่ม แล้วตื่นนอน 6 โมงเช้า เป็นต้น
ไม่อยากเสี่ยงหลับในทำอย่างไรได้บ้าง ?
1.พักผ่อนให้เพียงพอ
การขับรถเดินทางไกล สิ่งสำคัญ คือผู้ขับขี่ควรนอนหลับให้เพียงพอต่อการเดินทาง ควรนอนสะสมให้ครบ 8 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ เพื่อลดการง่วงขณะขับขี่ ที่เป็นสาเหตุของการหลับในนั่นเอง
2.งดเครื่องดื่มและยาที่ทำให้ง่วง
งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และยาที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาท บ่อยครั้งที่เราทานยาแก้แพ้จำพวกต่างๆ ด้วยความเคยชิน จนอาจหลงลืมไปบ้างว่า ยาเหล่านั้นส่งผลต่อสมรรถภาพในการขับขี่
3.ถ้าเหนื่อยนักก็พักก่อน
การขับรถติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ คงจะหลีกเลี่ยงอาการเหนื่อยล้า และง่วงนอนไปไม่ได้ ควรหาที่จอดรถแวะพักเข้าห้องน้ำ หรือดื่มน้ำ เติมความสดชื่นให้กับร่างกายที่เหนื่อยล้า ซึ่งอาจจอดพักสักครู่ทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือ 110 กิโลเมตร โดยประมาณ ถ้ามีเพื่อนสลับกันขับรถก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและดีที่สุด

นอกจากนี้ ของกินและเครื่องดื่มแก้ง่วง-ป้องกันหลับใน ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านข้างทางยังช่วยได้ เช่น กาแฟ, น้ำเปล่า, เครื่องดื่มชูกำลัง, ลูกอมหรือหมากฝรั่ง และผลไม้อบแห้ง / รสเปรี้ยว เป็นต้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ของกินและเครื่องดื่มแก้ง่วง-ป้องกันหลับใน สำหรับคนขับรถทางไกลในช่วงเทศกาล
- เคล็ดไม่ลับ “ขับรถทางไกล” รู้เอาไว้เดินทางปลอดภัย ไม่หลับในแน่นอน
- 5 เคล็ดลับ “ขับรถให้ปลอดภัย” ในเวลากลางคืน
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com