เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราได้พบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป และทำให้หลายภาคธุรกิจรวมทั้งขนส่งและโลจิสติกส์เองต่างก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย วันนี้เราเลยอยากจะพูดถึงเทรนด์และสิ่งสำคัญที่ยังคงมีผลต่อธุรกิจส่งและโลจิสติกส์ในปี 2566 นี้
1.ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์
ในช่วงที่ผ่านมาค่ายรถเพื่อการพาณิชย์ต่างพากันเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า ที่เรียกได้ว่าครอบคลุมการใช้งานขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่ รถบรรทุกไฟฟ้า หกล้อ สิบล้อ หัวลากไฟฟ้า รถกระบะ รถตู้ไฟฟ้า ทั้งเพื่องานโดยสาร และขนส่งสินค้า ซึ่งถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ในเมืองไทย อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไรที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้ประกอบการด้วยค่าบำรุงรักษาที่ต่ำ
นอกจากนี้ ยังมีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อการขนส่งที่สามารถวิ่งตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่แท้จริง โดยรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ถูกนำมาใช้ในการนำจ่ายสิ่งของหรือส่งพัสดุ ต่างเป็นรถพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง หลายบริษัทสามารถควบคุมได้ด้วยระบบดิจิทัล มีระบบรักษาความปลอดภัยในการขับขี่ สามารถขับขี่ความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ระยะทางถึง 120 กิโลเมตรต่อการชาร์ตแบตเตอรี่หนึ่งครั้ง จนถึงวันนี้โมเดลดังกล่าวถูกการันตีแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการนำจ่ายสิ่งของในระดับที่ดี อีกทั้งยังผ่านมาตรฐานความปลอดภัยในการขับขี่
ทั้งนี้ ด้านการดําเนินธุรกิจของผู้ประกอบการขนส่ง ส่วนนี้ยังพบว่าที่ผ่านมามีบริษัทที่เป็นผู้ผลิตหรือจำหน่ายได้มีการทําแผนธุรกิจที่ตอบโจทย์แก่ผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปมาสู่การใช้พาหนะไฟฟ้าเพื่อการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการจําหน่ายพร้อมทั้งให้คําแนะนําเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด หรือแม้แต่การให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า และการให้บริการขนส่งแบบเป็นเที่ยว เพื่อความคล่องตัวของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจอีกด้วย
2.Big Data
Big Data คือเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมไอทีรุ่นใหม่ ที่ได้รับการออกแบบให้สามารถรองรับการเก็บ วิเคราะห์ และใช้งานฐานข้อมูลหลากหลายประเภทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมหาศาลได้ ทำให้คำว่า Big Data ไม่ได้หมายถึงเฉพาะตัวข้อมูลเองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงประเภทของเทคโนโลยีแบบใหม่ที่สามารถบริหารจัดการสร้างการเข้าถึง และวิเคราะห์ข้อมูลที่มีปริมาณมากขึ้นได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าที่เทคโนโลยีแบบเดิมจะสามารถทำได้
โดยบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ชั้นนำจะให้ความสำคัญกับ Big Data แล้วนำมาพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน อย่างข้อมูลการขับรถ เช่น ความเร็วในการขับขี่ การขับเร่งกระชาก การเบรกกะทันหัน ประวัติการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อมาวิเคราะห์และประเมินความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการขับรถและการเกิดอุบัติเหตุผ่านโมเดลการวิเคราะห์การขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย และแสดงผลรายงานในรูปแบบการให้คะแนนการขับขี่ เพื่อให้คนขับปรับปรุงพฤติกรรมการขับรถได้อย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านการประเมินความเสียหายและการบำรุงรักษารถ
นอกจากนี้ ยังสามารถวางแผนในอนาคตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลที่มีอยู่โดยนำผลวิเคราะห์จาก Big Data เข้ามาช่วยประกอบการวางแผนและการตัดสินใจ ทั้งในเรื่องของการลดต้นทุน ผ่านการเก็บข้อมูลต่างๆ ภายในธุรกิจเพื่อนำไปวิเคราะห์ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการขนส่ง ข้อมูลการใช้ต้นทุนด้านเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้สามารถทราบได้ว่าปัญหาภายในธุรกิจมีสิ่งต้องปรับปรุงแก้ไขส่วนใด เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งหาทางป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นใหม่ได้
3.หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
จากเทรนด์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ที่ทำให้ดีมานด์ของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้น หลายธุรกิจที่ต้องมีส่วนงานโลจิสติกส์จึงต่างมองหาโซลูชั่นมาเพื่อให้สอดรับกับความท้าทาย และให้มีประสิทธิภาพในการทำงานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดการผิดพลาดจากการทำงานของคน ตลอดจนเรื่องการทำงานได้โดยไม่ต้องมีวันหยุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ได้กระตุ้นพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป อย่างเห็นได้ชัด และได้ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) เติบโตขึ้นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งสอดรับกับเทรนด์การพัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อมาช่วยงานด้านโลจิสติกส์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ
ยกตัวอย่างเช่น De-Palletizer Robot หรือหุ่นยนต์ขนถ่ายสินค้า ที่โตชิบาพัฒนาขึ้น ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยจัดการคลังสินค้าตามไซต์งานโลจิสติกส์ ด้วยเทคโนโลยี Image recognition และหุ่นยนต์อัจฉริยะที่ไม่ต้องป้อนคำสั่งล่วงหน้า และ DoraSorter หุ่นยนต์คัดแยกสินค้าอัจฉริยะ ที่ใช้กำลังงานปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดย FedEx ผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุรายใหญ่ที่สุดของโลก ร่วมมือกับ Dorabot บริษัทชั้นนำที่ให้บริการโซลูชั่นหุ่นยนต์ในแวดวง โลจิสติกส์ บริการหุ่นยนต์คัดแยกสินค้าเพื่อจัดการกับปริมาณของการขนส่งที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง
4.เทรนด์ด้านความยั่งยืน
เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีจิตสำนึกในการตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงถือว่ามีส่วนในการสร้างแรงผลักดันให้กับธุรกิจ ส่งผลให้แนวคิดเรื่องความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม ได้ถูกกล่าวถึงและนำมาใช้มากขึ้นในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์
ทั้งนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วยังมีข้อจำกัดทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับนิยามกรีนโลจิสติกส์ ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกพยายามที่จะปรับตัว เพื่อลดผลกระทบต้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินงาน เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดทางการค้าที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม แต่สามารถตอบสนองเทรนด์การใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดความตระหนักและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ จากการที่ประเทศไทยเตรียมออกมาตรการทางกฎหมายให้รถทุกขนาดเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานยูโร 5 เพื่อให้การควบคุมมลพิษรถยนต์ในประเทศไทยเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 นั้น ยังมีค่ายรถเพื่อการพาณิชย์ชั้นนำหลายค่ายพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจขนส่งโดยมีเทคโนโลยีไปถึงเครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นการขานรับเทรนด์อุตสาหกรรมยานยนต์โดยพัฒนาเครื่องยนต์ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
5.อีคอมเมิร์ซ
จากการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2565 ที่ผ่านมายังคงมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายคนเปลี่ยนอาชีพมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เพื่อหารายได้เสริม หรือบางคนขายดีจนยึดเป็นอาชีพหลักไปเลยก็ว่าได้ ซึ่งข้อมูลจาก Priceza ( ณ เดือนสิงหาคม 65) พบว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2565 มีมูลค่า 900,900 ล้านบาท เติบโต 30% จากปี 2564 เป็นมูลค่าที่มาจาก B2C และ C2C ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและยังมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งจนถึงปัจจุบัน
ปัจจัยดังกล่าวทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่ทำธุรกิจอยู่ในห่วงโซ่ของอีคอมเมิร์ซจึงต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การทำธุรกิจง่ายและสะดวกสบายขึ้น ดังนั้น การนำระบบจัดการงานหลังบ้านเพื่อความราบรื่นของธุรกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- ‘ผู้ประกอบการขนส่ง’ กับการพัฒนาศักยภาพด้านบริหาร ทำอย่างไร? ไม่ให้ติดกับดักรั้งธุรกิจเติบโต
- 5 รถบรรทุกหัวลากที่พร้อมจะสร้างการเติบโตให้ธุรกิจการขนส่ง
- มาตรฐานยูโรคืออะไร แล้วรถเพื่อการพาณิชย์ของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับไหนบ้าง ?
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com