จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา การซื้อขายสินค้า-บริการผ่านทางออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซ กำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่งเพราะมีความคล่องตัวสูงและมี ซึ่งรูปแบบการซื้อสินค้าเหล่านี้ก็สามารถทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น B2B B2C หรือแม้แต่ C2C โดยเฉพาะผู้ประกอบการทั้ง SME และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ต่างก็มีการปรับเปลี่ยนเสริมระบบการซื้อขายผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องลงทุนหน้าร้าน ค่าเช่าพื้นที่ หรือค่าจ้างพนักงาน ที่สำคัญยังสามารถเปิดขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีการจัดการระบบจัดส่งสินค้า และนำเทคโนโลยีมาใช้วางระบบเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ ซัพพลายเออร์ และเครือข่าย ได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ขณะเดียวกันจะพบว่าผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่หันมาเป็นผู้ประกอบการนำสินค้ามาวางขายผ่านออนไลน์ และก็มีผู้บริโภคที่เป็นผู้ซื้อนิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นการซื้อขายสินค้า-บริการผ่านทางออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมากขึ้น BUS & TRUCK จึงอยากชวนผู้อ่านไปทำความเข้าใจว่าทำไมขนส่งและโลจิสติกส์ ถึงปัจจัยในความสำเร็จการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน ดังนี้
1.มีพันธมิตรขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
ที่ผ่านมาเคยมีกรณีศึกษาความสำเร็จของการขายสินค้าออนไลน์แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสที่เป็นผู้นำด้านการช้อปปิ้งและการขายสินค้าออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลาซาด้า มีความน่าสนใจ คือการมีระบบการจัดการโลจิสติกส์จัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคด้วยพาหนะหลากหลายรูปแบบทำให้มั่นใจผู้บริโภคต่อการได้รับสินค้าตามที่สั่งซื้อภายในวันเดียวหรือได้ทันเวลา ซึ่งการขนส่ง (Transport) ด้วยระบบการขนส่งสินค้าและพันธมิตรที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจะเสริมประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ให้ดีมากยิ่งขึ้น ในอดีตมีเพียงไปรษณีย์ไทยเป็นผู้ให้บริการเท่านั้น ซึ่งมีการพัฒนาระบบที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น Kerry Express หรือเจ้าอื่นที่หันมาให้บริการส่งสินค้าทั้งแบบด่วนและแบบ Same Day Delivery ซึ่งเป็นบริการจัดส่งด่วนภายในวัน ที่ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยพัสดุส่งด่วนทั้งหมดจะถูกจัดส่งภายในวัน
จึงส่งผลให้การขนส่งพัฒนาไปอีกขั้นและมีคุณภาพการขนส่งที่ดีช่วยเพิ่มความต้องการให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์มากยิ่งขึ้น และมีทำเลคลังสินค้ามีการขยายพื้นที่คลังสินค้าที่เหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกิจออนไลน์ช็อปปิ้ง รวมถึงมีศูนย์กระจายสินค้า โดยใช้ระบบคำสั่งจากมือถือภายในคลังและใช้เทคโนโลยีช่วยการจัดการสินค้าอย่างครบวงจรพร้อมทั้งการติดต่อประสานงานกับทุกหน่วยงาน โปรแกรมดังกล่าวสามารถดำเนินงานด้วยระบบอัตโนมัติ
2.เครือข่ายที่แข็งแกร่ง
การมีเครือข่าย (Network) ที่มีความแข็งแรงมาทำธุรกิจกับลาซาด้าได้ให้การสนับสนุนผู้ค้าออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังให้ความสนับสนุนด้านการจัดทำกิจกรรมทางการตลาดที่เหมาะสม พร้อมข้อมูลและโซลูชั่นโดยมอบสินค้าจากหลากประเภทจากหลายหมวดหมู่ตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงของใช้ในบ้าน ของเล่นเด็ก สินค้าแฟชั่น อุปกรณ์กีฬา และสินค้าอุปโภคบริโภค ยังมุ่งมั่นในการยกระดับประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ที่ดีเยี่ยมให้แก่ผู้บริโภคผ่านรูปแบบการชำระเงินที่หลากหลายรวมถึงการเก็บเงินปลายทาง (Cash-on-Delivery) ศูนย์บริการลูกค้าแบบครบวงจร และอำนวยความสะดวกในการส่งคืนสินค้าผ่านเครือข่ายพันธมิตรผู้ให้บริการจัดส่งสินค้า
3.ยุคสังคมไร้เงินสด
การเปิดรับของผู้บริโภคที่นิยมใช้งานสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตที่จะซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ สะท้อนให้เห็นว่า สินค้าที่ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายและมีมูลค่าไม่สูงนัก เช่น ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น รวมทั้งยังตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการชำระเงินแบบสังคมไร้เงินสด โดยพัฒนาเป็นระบบ Wallet เพื่อเป็นทางเลือกในการชำระเงินนอกเหนือจากเงินสดและบัตรเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ยังเห็นได้ชัดว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคปรับตัวสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น เช่น การซื้อสินค้าและชำระเงินออนไลน์ ซึ่งเป็นผลพวงของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ขณะที่ผู้บริโภคบางส่วนเลี่ยงการใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้เทรนด์สังคมไร้เงินสดของไทย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน รวมถึงการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์ (e-Payment) ในช่วงโควิด 19 ถูกเร่งเร้าให้กลายเป็นเรื่องปกติมากยิ่งขึ้น
กรณีศึกษาลาซาด้าเดินหน้าลุยโลจิสติกส์
หากใครจำได้เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปี 64 หรือ 2 ปีที่ผ่านมา ลาซาด้า ได้ประกาศปรับโฉมแบรนด์ระบบโลจิสติกส์ภายใต้ ชื่อ “ลาซาด้า โลจิสติกส์” ที่เข้ามาช่วยยกระดับวงการโลจิสติกส์ไทยไปอีกขั้น เพราะจากประสบการณ์เกินกว่าทศวรรษที่ผ่านมาของกลุ่มลาซาด้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เครือข่ายโลจิสติกส์ของลาซาด้าได้พลิกโฉมวงการอีคอมเมิร์ซให้กับภูมิภาคที่มีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์และมีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก ซึ่งทำให้สามารถส่งมอบบริการที่ยอดเยี่ยมให้กับผู้บริโภคทั่วภูมิภาคได้ รวมถึงให้บริการที่สะดวกและครบวงจรแก่ผู้ขายและพาร์ทเนอร์ได้ การประกาศปรับโฉมแบรนด์ในครั้งดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันของพนักงานและเทคโนโลยี
โดยภายใต้การปรับโฉมแบรนด์ครั้งนั้น “ลาซาด้า โลจิสติกส์” ได้เปิดตัวบริการด้านโลจิสติกส์แบบหลากหลายช่องทาง (multi-channel logistics: MCL) ด้วยโซลูชันการจัดเก็บสินค้าแบบครบวงจร เพื่อช่วยให้ผู้ให้บริการบนอีคอมเมิร์ซและแบรนด์ต่าง ๆ สามารถตอบโจทย์การขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซได้อย่างราบรื่น ไม่ว่าผู้บริโภคจะสั่งซื้อสินค้าบนลาซาด้าหรือบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าซึ่งนับว่าช่วยเติมเต็มการให้บริการด้านขนส่งทุกคำสั่งซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการช้อปปิ้งวิถีใหม่ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัดส่งสินค้าถึงหน้าประตูที่สะดวกและรวดเร็วทันใจ ลาซาด้าจึงได้เดินหน้าสร้างสรรค์และนำเสนอโซลูชันใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ขายและพันธมิตรอีคอมเมิร์ซสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าหรือผู้บริโภคได้
นอกจากนี้ แบรนด์ต่าง ๆ ยังมั่นใจได้ว่าบริการด้านโลจิสติกส์แบบหลากหลายช่องทาง (MCL) นั้น จะสามารถให้บริการด้วยมาตรฐานเดียวกัน ช่วยแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์ให้กับแบรนด์และผู้ขายได้เป็นอย่างดี จึงทำให้แบรนด์และผู้ขายสามารถทุ่มเทเวลาให้กับการพัฒนาด้านการขาย การตลาด และการยกระดับธุรกิจของตนเองได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการชี้ให้เห็นว่าการขนส่งและโลจิสติกส์ถือเป็นปัจจัยในความสำเร็จการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในยุคนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้
เรื่องที่น่าสนใจ
- ส่องปรากฏการณ์ “ธุรกิจขนส่งพัสดุ” ปรับแผนกลยุทธ์ช่วงโควิด-19 รับแรงหนุน E-commerce ทั่วโลก
- ‘โควิด’ เร่งอีคอมเมิร์ซโต คาดปี 68 การซื้อขายแบบ B2B พุ่งสูง 80%
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com