คอลัมน์ก่อนหน้านี้เราพูดถึงการทำธุรกิจวิ่งงานถมดินที่ในช่วงหน้าแล้งเรามักจะเห็นรถดัมพ์หรือรถบรรทุกดินวิ่งในต่างจังหวัดกันเป็นอย่างมาก ทั้งในพื้นที่ชนบทหรือตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งหลังจากนั้นก็มีผู้อ่านหลายท่านได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของรถบรรทุกดินที่วิ่งบนท้องถนนแล้วสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ดังนั้น คอลัมน์นี้ทีมงาน BUS & TRUCK จึงขอหยิบเอาประเด็นนี้มาพูดถึงแนวทางแก้ไขเพื่อให้ ผู้ประกอบการรถบรรทุกวิ่งงานขนดินตระหนักและหากเอาไปปรับใช้กับการดำเนินงานก็จะเป็นข้อดีอย่างยิ่ง

ปัญหาของรถบรรทุกดิน ที่ชาวบ้านอาจเคยชินแต่ยังคงเดือดร้อน

ปัญหา “รถบรรทุกทำดินร่วงบนถนน” ช่วงหน้าแล้งนี้คนใช้รถใช้ถนนต่างบ่นมาว่า ถนนที่เคยใช้สัญจรอย่างเป็นปกติสุขตามชนบท ตอนนี้มีรถบรรทุกดิน วิ่งขนดินออกจากบ่อดินส่วนใหญ่ไม่มีการคลุมผ้า ขณะเดียวกันยังพบว่ารถบางคันบรรทุกมากเกินไปทำให้ดินร่วงบนถนน จนอาจส่งผลให้เกิดอันตรายกับผู้ร่วมทาง ตัวอย่างเช่น หากมีคนขี่รถมอเตอร์ไซค์ตามมาก็เสี่ยงที่จะลื่นล้มและเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้

นอกจากนี้ ยังมีหลายครั้งที่ชาวบ้านร้องเรียนเกี่ยวกับรถบรรทุกดินวิ่งผ่านเข้าออกภายในหมู่บ้านและในชุมชนที่มีประชาชนจำนวนมากพักอาศัยอยู่ โดยแต่ละวันวิ่งวันละหลายสิบเที่ยวด้วยกันส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก

แนวทางแก้ไข เพื่อให้การดำเนินงานไม่มีปัญหาบานปลาย

หลายครั้งที่หน่วยงานท้องถิ่น หรือ อบต. ได้รับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ จากประชาชน ว่าได้รับความเดือดร้อนจากรถบรรทุกดินวิ่งบนถนนสาธารณะหรือถนนในพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศและเสียงมีเศษดินตกหล่นลงสู่ถนนสาธารณะ รวมทั้งอาจทำให้ถนนชำรุดเสียหาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายให้กับผู้เดินทางสัญจรไปมา ทั้งยังก่อให้เกิดปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง อันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในเขตพื้นที่

ดังนั้น เพื่อให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากกรณีดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งให้การบังคับใช้ประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อบต. จึงได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 รวมถึงพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง กำหนดมาตรการควบคุมป้องกัน กรณีที่อาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญและความเสียหายในที่หรือทางสาธารณะที่เกิดจาก รถบรรทุกดินของผู้ประกอบการขนส่งรถบรรทุกดิน เพื่อบังคับใช้ในเขตพื้นที่ และบังคับให้ผู้ประกอบการขุดดินและถมดิน ต้องยื่นขออนุญาตประกอบกิจการขุดดินและถมดินกับ อบต. ซึ่งผู้ประกอบการต้องได้รับใบอนุญาตเป็นประกอบกิจการขุดดิน และถมดินในพื้นที่ก่อน จึงจะสามารถประกอบกิจการทำการขุดดินและถมดินในพื้นที่ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.ผู้ประกอบการขุดดินและถมดิน ต้องแจ้งการเข้าประกอบการ ปริมาณงาน กำหนดระยะเวลาและเส้นทางในการดำเนินการขุดดิน ถมดิน บรรทุกดิน ต่อหน่วยงานท้องถิ่นนั้นๆ  และต้องติดสำเนาใบอนุญาตขุดดินและถมดินไว้ที่หน้ากระจกรถบรรทุกที่มีการขนส่งบรรทุกดินทุกคัน

2.ผู้ประกอบการขุดดินและถมดิน และผู้ประกอบการรถบรรทุกดิน บรรทุกดินน้ำหนักตั้งแต่ 25 ตัน ต้องเกลี่ยดินให้เสมอกระบะทึบไม่ให้ล้น และน้ำหนักบรรทุกต้องไม่ให้เกินตามที่กฎหมายกำหนดหากมีดินตกสู่ทางสาธารณะต้องทำการปัดเก็บกวาดให้เป็นที่เรียบร้อยทุกวันที่ดำเนินการ

3.ผู้ประกอบการขุดดินและถมดิน หรือผู้ประกอบการรถบรรทุกดิน ต้องกำกับดูแลไม่ให้รถบรรทุกดิน ของตน จำกัดความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และใช้ความเร็วในเขตชุมชนไม่เกินกว่า 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

4.ผู้ประกอบการขุดดินและถมดิน และผู้ประกอบการรถบรรทุกดิน วิ่งบรรทุกดินช่วงกำหนดระยะเวลา ตั้งแต่เวลา 06.00- 18.00 น. หากมีความจำเป็นต้องขนส่งนอกเวลาที่กำหนดต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน และต้องแจ้งต่อหน่อยงานท้องถิ่นหรือ อบต. ให้ทราบ

5.เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง ผู้ประกอบการขุดดินและถมดิน หรือผู้ประกอบการรถบรรทุกดิน ต้องดำเนินการรดน้ำถนนที่รถบรรทุกดินวิ่งผ่าน และทำการล้างถนนให้สะอาดไม่ให้เกิดดินเลน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและลดผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดฝุ่นละออง และที่ใช้ทางถนนสัญจรไปมา

6.หากถนนเกิดความชำรุดเสียหาย ซึ่งเกิดจากรถบรรทุกดินวิ่งผ่าน ผู้ประกอบการรถบรรทุกดิน ต้องดำเนินการซ่อมแซมถนนที่ชำรุดเสียหายกลับคืนสู่สภาพเดิมและสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ

มีโทษอย่างไร? ถ้าไม่ทำตามระเบียบ

สำหรับรถบรรทุกที่บรรทุกจำพวกหิน ทราย หรือแม้แต่ดินทุกประเภท ต้องระมัดระวังการทำร่วงหล่นบนพื้นถนนเป็นอย่างมาก เพราะอาจส่งผลกระทบกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการหลบหลีกหิน ดิน หรือแม้แต่ทรายที่อยู่บนพื้นถนน ดังนั้น ก่อนที่รถจะบรรทุกต้องจัดระเบียบของตัวรถให้ดีและแน่นหนา เพื่อไม่ให้เกิดการร่วงหล่นบนพื้นในยามที่ขับขี่

โดยตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 13 นั้น ได้ระบุเอาไว้ว่าเจ้าของรถที่บรรทุกสัตว์ กรวด หิน ดิน เลน ทราย สิ่งปฏิกูล มูลฝอย หรือสิ่งอื่นใด ต้องจัดให้รถอยู่ในสภาพที่ป้องกันไม่ให้สิ่งดังกล่าวตกหล่น หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท

ที่กล่าวมาข้างต้นผู้ประกอบการขุดดินและถมดิน หรือผู้ประกอบการรถบรรทุกดิน ควรตระหนักถือปฏิบัติตามอย่างจริงใจ เพราะหากจงใจฝ่าฝืนหรือปล่อยละเลย อาจสร้างผลกระทบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งยังทำให้ภาพลักษณ์ในการดำเนินธุรกิจเป็นไปในทางลบ แต่ถ้านำแนวทางเหล่านี้มาปฏิบัติแล้ว แน่นอนว่าย่อมเป็นการป้องกันปัญหาและนำมาซึ่งการทำงานอย่างราบรื่นแน่นอน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Advertisement