รถบรรทุกหรือรถเพื่อการพาณิชย์ชนิดอื่นๆ เป็นรถที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานหนักอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารถจะมีสภาพดีตลอดไปถ้าไม่ได้รับการดูแลและบำรุงรักษา ดังนั้น หากผู้ประกอบการขนส่งต้องการมั่นใจว่ารถบรรทุกจะสามารถทำงานและขับเคลื่อนธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย รวมทั้งมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ก็ควรตรวจเช็กและซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ BUS & TRUCK เลยอยากนำเสนอบทความ ‘5 สิ่งจำเป็นของรถบรรทุกหรือรถใหญ่ ที่ยังไงก็ต้องเปลี่ยนเป็นประจำ’ เพื่อให้ทุกท่านได้นำไปเช็กกันครับ
1.ระบบเบรก
ระยะเวลาเปลี่ยนผ้าเบรก จะอยู่ที่ประมาณ 25,000 – 60,000 กิโลเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการขับและการจราจรในพื้นที่ รวมไปถึงปัจจัยการใช้งานอื่นๆ ด้วย เพราะผ้าเบรกเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่มีผลต่อความปลอดภัยของรถ เมื่อไหร่ก็ตามที่เหยียบเบรกแล้วได้ยินเสียงดัง “เอี๊ยด” เกิดขึ้น นั่นหมายความว่าผ้าเบรกเริ่มมีปัญหา หรือใกล้หมดแล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยไว้นานเพราะอาจส่งผลกระทบต่อจานเบรกหรือฝาครอบดรัมเบรกที่อาจจะมีผลทำให้ต้องเสียเงินมากขึ้นในวันข้างหน้า
นอกจากนี้ ควรตรวจเช็กน้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับที่กำหนด รวมทั้งเช็กสีของน้ำมัน ก็ไม่ควรเป็นสีดำคล้ำกว่าปกติ ทั้งนี้หากพบความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเบรกเกิดขึ้นควรรีบนำรถยนต์ไปตรวจสอบหาสาเหตุพร้อมแก้ไขให้เรียบในทันทีก่อนออกเดินทาง
2.น้ำมันเครื่อง
สำหรับเครื่องยนต์นั้น น้ำมันเครื่องเปรียบเสมือนปัจจัยหลักที่ช่วยในการหล่อลื่นเครื่องยนต์ เพื่อให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ แต่เพื่อน้ำมันเครื่องรวมไปถึงไส้กรองน้ำมันเครื่องที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รถที่ใช้ในการขนส่งหรือต้องวิ่งรถบ่อย ๆ ควรเปลี่ยนในระยะทางตามความเหมาะสมของน้ำมันเครื่องที่ใช้ เช่น น้ำมันเครื่องเกรดธรรมดา 5,000-7,000 กิโลเมตร, น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ 10,000-15,000 กิโลเมตร และน้ำมันเครื่องแบบสังเคราะห์ 15,000-20,000 กิโลเมตร หรือตามกำหนดระยะเวลา
ขณะเดียวกันควรตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องเป็นประจำ เพื่อเช็กความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ หากการตรวจเช็กระดับน้ำมันเครื่อง ควรให้อยู่ระหว่างขีด F กับ L หรือ Max กับ Min โดยใช้ก้านวัดน้ำมันเครื่องดึงก้านวัดออก และเช็ดน้ำมันเครื่องที่ก้านวัด หลังจากนั้นให้เสียบก้านวัดกลับไปจุดเดิม แล้วดึงออกมาอีกครั้ง เพื่อเช็กระดับน้ำมันเครื่อง
3.ไส้กรองอากาศ
ไส้กรองอากาศเองก็ถือเป็นหัวใจของเครื่องยนต์ ดังนั้นควรทำความสะอาดอย่างต่อเนื่องตามลักษณะการใช้งาน เช่น ถ้าเป็นรถที่วิ่งทางฝุ่นหรือบรรทุกดินก็อาจเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดหรือเป่าลมมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งเวลาเป่าไส้กรองอากาศ ต้องเป่าจากด้านในออกสู่ด้านนอกเท่านั้น เพราะถ้าเป่าย้อนทางลมจะดันให้ฝุ่นฝังตัวลึกแน่นเข้าไปได้อีก
โดยทั่วไปแล้วกรองอากาศหากเป็นของแท้บางยี่ห้อจะสามารถใช้ได้ยาวนานถึง 80,000 กิโลเมตร แต่หากเป็นของเทียบหรือ OEM ก็อาจต้องลดหลั่นกันไปตามยี่ห้อ ซึ่งกรองอากาศเป็นสิ่งท่าเพิกเฉยไม่ได้เพราะหากมีสิ่งสกปรกเข้ามาอุดตันจะทำให้การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ทำงานไม่เต็มที่
4.ใบปัดน้ำฝน
เพราะประเทศไทยเป็นเมืองร้อน และอากาศช่วงนี้ก็เปลี่ยนแปลงบ่อย ส่งผลต่ออายุการใช้งานใบปัดน้ำฝนที่จะเสื่อมสภาพเร็วควรเปลี่ยนทุก ๆ 1 ปี แต่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่จะละเลยการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีจนอายุการใช้งานนั้นสั้นลงไป ซึ่งผลจากการใช้งานใบปัดน้ำฝนที่เสื่อมสภาพ จะทำให้กระจกหน้ารถเป็นรอย เนื่องจากใบปัดที่แข็งจากการเสื่อมสภาพ ถ้าทัศนวิสัยแย่จากฝนตกหนัก จะยิ่งทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่แย่ลงอีก
ดังนั้น หากเมื่อไรก็ตามที่ทดลองใช้เครื่องปัดน้ำฝนแล้วใบปัดไม่สามารถรีดน้ำได้อย่างสะอาดหมดจดแล้วควรรีบเปลี่ยนทันที เพราะหากปล่อยไว้เมื่อถึงเวลาที่ต้องขับในช่วงที่ฝนตกอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุถึงชีวิตได้
5.ระบบไฟต่างๆ
เมื่อใดก็ตามที่หลอดไฟขาดควรเปลี่ยนทันทีเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และคนขับควรตรวจสอบทุกครั้งก่อนนำรถไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟเบรก ไฟถอยหลัง ไฟตัดหมอก หรือไฟดวงอื่น ๆ ว่าติดครบทุกดวงหรือไม่ เพื่อการขับขี่บนท้องถนนที่ดีและเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุควรหมั่นตรวจสอบสม่ำเสมอ
ที่สำคัญรถบรรทุกไม่ควรติดตั้งไฟสปอตไลท์ที่เสี่ยงก่อให้เกิดอันตรายและอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกได้มีการกำหนดรายละเอียดโคมไฟสำหรับรถบรรทุกไว้แล้ว ซึ่งเจ้าของรถต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังนี้ โคมไฟแสงพุ่งไกล (ไฟสูง) แสงขาว/เหลืองอ่อน จำนวน 2 ดวง ติดที่ด้านหน้า ระดับเดียวกันทั้งข้างซ้ายและขวา โคมไฟแสงพุ่งต่ำ (ไฟต่ำ) แสงขาว/เหลืองอ่อน จำนวน 2 ดวง ติดที่ด้านหน้า ระดับเดียวกันทั้งข้างซ้ายและขวา และต้องมีทิศทางส่องสว่างไปด้านหน้า (ขนส่งฯ เตือนดัดแปลงไฟหน้า-ไฟท้ายผิดกฏหมาย)
อย่างไรก็ตาม หากเช็กความพร้อมของรถแล้ว ผู้ขับขี่เองต้องเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนขับรถด้วยเช่นเดียวกัน เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง หากมีอาการเหนื่อยล้าระหว่างการเดินทางควรหยุดพักในจุดที่ปลอดภัย ที่สำคัญต้องห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดด้วย
เรื่องที่น่าสนใจ
- เคล็ดลับการบำรุงรักษาเชิงป้องกันสำหรับรถบรรทุก
- 10 วิธีคิดพื้นฐานที่ผู้ประกอบการขนส่งมือใหม่ต้องเริ่ม เพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
- ปัญหารถเที่ยวเปล่า (Backhaul) ความสูญเปล่าในงานขนส่งและโลจิสติกส์ ต้องหาทางออกอย่างไร?
อ่านข่าวสารหรือความเคลื่อนไหวในแวดวงนี้ก่อนใครได้ที่นี่
เฟซบุ๊ก : BUS & TRUCK
เว็บไซต์ข่าว : www.BusAndTruckMedia.com
เว็บไซต์งาน : www.BusAndTruckExpo.com