ใครที่ใช้รถเพื่อการพาณิชย์ คงทราบดีว่าหากต้องการมั่นใจว่ารถบรรทุกจะสามารถทำงานและขับเคลื่อนธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย รวมทั้งมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ต้องมีการตรวจเช็กและซ่อมบำรุงชิ้นส่วนและอะไหล่ของตัวรถอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ BUS & TRUCK อยากพูดถึงสิ่งสำคัญของระบบเบรก
ระหว่าง “ดรัมเบรก” กับ “ดิสก์เบรก” ต่างกันอย่างไร?
ระบบดรัมเบรก
ระบบดรัมเบรก คือระบบเบรกชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยโลหะวงกลม (จานดรัมเบรก, กระทะล้อ) ยึดติดกับดุมล้อ หมุนไปพร้อมล้อ และชุดก้ามเบรก ซึ่งประกอบด้วยผ้าเบรก กลไกปรับตั้งเบรก สปริงดึงกลับ และกระบอกเบรก ซึ่งไม่หมุนไปพร้อมล้อ ส่วนที่บริเวณกระบอกเบรก (Brake wheel cylinder) จะมีท่อส่งน้ำมันเบรก (Brake fluid) มาเชื่อมต่อ ซึ่งดรัมเบรกส่วนมากมักใช้กับล้อส่วนหลังของรถ
ข้อดีระบบดรัมเบรก ประกอบด้วย สามารถช่วยเพิ่มแรงจับประกบกับฝาครอบเบรกได้อัตโนมัติ, ไม่ต้องใช้แรงเหยียบเบรกมาก ก็สามารถชะลอความเร็ว และหยุดรถได้, มีกำลังหยุดรถสูง เหมาะกับรถที่ใช้บรรทุกของหนักๆ
ข้อเสียดรัมเบรก ประกอบด้วย ตอบสนองในการเหยียบเบรกได้ช้า, ถ้าใช้งานหนักจะมีความร้อนสะสมสูง และถ่ายเทความร้อนได้ยาก, ระบายน้ำได้ไม่ค่อยดีและดูแลรักษายากเพราะเป็นระบบปิด จึงทำให้หลายครั้งที่มีการขับลุยน้ำมีเสียงดัง
ระบบดิสก์เบรก
ระบบดิสก์เบรก ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนพื้นฐาน คือ จานดิสก์เบรก (จานเหล็กหล่อ), ผ้าดิสก์เบรก , ก้ามปู และลูกสูบ โดยหลักการทำงาน คือ จานดิสก์เบรกจะหมุนไปกับล้อ ไม่มีแผงหรือชิ้นส่วนใดมาปิด ทำให้สามารถระบายความร้อนได้ดีพร้อมทั้งช่วยให้เบรกที่เปียกน้ำสามารถแห้งได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ขนาดของจานเบรกก็มีข้อจำกัด เนื่องด้วยขนาดของขอบล้อ ทำให้ขนาดของผ้าเบรกของระบบดิสก์เบรกมีข้อจำกัดไปด้วย ดังนั้น เพื่อชดเชยข้อจำกัดดังกล่าวจึงต้องป้อนแรงดันน้ำมันเบรกให้มากขึ้น
ข้อดีระบบดิสก์เบรก ประกอบด้วย ตอบสนองต่อการเบรกได้ดี, ระบายความร้อนและระบายน้ำได้ดี และบำรุงรักษาง่าย
ข้อเสียระบบดิสก์เบรก ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง, กำลังในการหยุดรถน้อยกว่าระบบดรัมเบรก, ผ้าเบรกหมดไว และใช้แรงเหยียบเบรกมากกว่าระบบดรัมเบรก
ผ้าเบรก มีกี่แบบ
ปัจจุบัน ผ้าเบรกมีมากมายหลายแบบ แต่เราของพูดถึงแค่ 3 ประเภทที่คนมักใช้งานเป็นหลัก โดยจะแบ่งตามลักษณะเนื้อผ้าเบรก หรือวัสดุที่ใช้ในการผลิต เพื่อทำให้เกิดแรงเสียดทานจากการเบรก โดยจะอ้างอิงตาม Compact brakes ซึ่งปัจจุบันมีดังนี้
1.ผ้าเบรกประเภท Semi-metallic
ผ้าเบรกประเภท Semi – metallic มีโครงสร้างหลักเป็นวัสดุประเภทโลหะจำพวกเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งมีปริมาณมากถึง 30 – 65% โดยน้ำหนัก ทำให้มีคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องของความแข็งแรง การระบายความร้อน และความสามารถในการยึดจับกับจานเบรก ส่งผลให้ผ้าเบรกมีความทนทาน มีอายุการใช้งานสูง มีประสิทธิภาพในการเบรกที่ดีเยี่ยม ณ สภาวะอุณหภูมิสูง และยังสามารถช่วยลดปัญหาการเฟด หรือการเบรกไม่อยู่ แต่คุณสมบัติความแข็งแรงก็มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดอัตราการกินจานสูง รวมถึงการเกิดเสียงดังรบกวนและมีปริมาณฝุ่นดำที่ติดล้อเยอะขึ้น
“ด้วยความทนทาน และอายุการใช้งานสูง ผ้าเบรกประเภท Semi – metallic จึงเหมาะกับการใช้งานหนักไม่ว่าจะเบรกหนัก บรรทุกหนัก หรือรถเพื่อการพาณิชย์”
2.ผ้าเบรกประเภท Low-metallic
ผ้าเบรกประเภท Low – metallic เป็นการผสมระหว่างโครงสร้างหลักที่เป็นวัสดุอินทรีย์จำพวกเส้นใยอะรามิด ใยแก้ว ยาง และวัสดุประเภทโลหะในสัดส่วน 10 – 30% โดยน้ำหนัก เช่น เหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง รวมถึงมีการเพิ่มผงขัด (Abrasive) ซึ่งมีคุณสมบัติในการเพิ่มสัมประสิทธิ์การเสียดทานของผ้าเบรก ทำให้ผ้าเบรกประเภท Low – metallic มีประสิทธิภาพการเบรกที่ดีกว่าผ้าเบรกประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการระบายความร้อนได้ดีจากการมีส่วนผสมของโลหะ จึงมีประสิทธิภาพในการเบรกที่ดีเยี่ยม ณ สภาวะอุณหภูมิสูง แต่แม้ว่าผ้าเบรกประเภทนี้จะมีปริมาณโลหะน้อยกว่าผ้าเบรกประเภท Semi – metallic แต่เนื่องจากมีการเพิ่มวัสดุชนิดผงขัดเข้าไป จึงทำให้ผ้าเบรกมีข้อจำกัดในเรื่องของการเกิดเสียงรบกวน เกิดฝุ่นดำติดขอบล้อ และไม่ถนอมจานเบรก
ด้วยประสิทธิภาพในการเบรกของผ้าเบรกประเภท Low – metallic ที่กล่าวไปข้างต้น ผ้าเบรกประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการประสิทธิภาพในการเบรกที่ดีขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง รวมถึงเหมาะกับผู้ใช้รถยุโรปที่ต้องการผ้าเบรกที่ตอบรับสมรรถนะการขับขี่สูง
3.ผ้าเบรกประเภท NAO
ผ้าเบรกประเภท NAO (Non – Asbestos Organic) หรือผ้าเบรกประเภท Ceramic มีวัสดุประเภทอินทรีย์เป็นโครงสร้างหลัก เช่น เส้นใยอะรามิด ใยแก้ว ยาง ซึ่งวัสดุอินทรีย์ต่างๆเหล่านี้ ไม่ทนต่อความร้อน ทำให้ประสิทธิภาพในการเบรกลดลง เมื่อต้องเผชิญกับสภาวะอุณหภูมิการเบรกสูงๆ จึงมีการเพิ่มวัสดุประเภทโลหะอ่อน (Non – ferrous metals) ในปริมาณเล็กน้อยในสัดส่วนที่น้อยกว่า 10% โดยน้ำหนัก เช่น ทองแดง โลหะผสม เพื่อทำให้ผ้าเบรกประเภท NAO สามารถทนความร้อนได้ดีขึ้น
และเนื่องจากวัสดุอินทรีย์เหล่านี้มีลักษณะทางกายภาพค่อนข้างนุ่มและยืดหยุ่น (High Compressibility) จึงลดความรุนแรงของการเสียดสีระหว่างผ้าเบรกและจานเบรกได้ดีกว่าผ้าเบรกประเภทอื่น ส่งผลให้มีอัตราการกินจานค่อนข้างน้อย อัตราการเกิดฝุ่นค่อนข้างต่ำ ลดเสียงรบกวนจากการเบรกได้ดี และให้ความรู้สึกนุ่มขณะเหยียบแป้นเบรกได้ดีกว่าผ้าเบรกประเภทอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกัน คุณสมบัติความนุ่มและความยืดหยุ่นนี้ ก็ส่งผลให้ผ้าเบรกประเภท NAO มีข้อจำกัดในเรื่องของการสึกหรอของตัวผ้าเบรกที่สูง ทำให้อายุการใช้งานค่อนข้างสั้น เมื่อเทียบกับผ้าเบรกประเภทอื่นๆ และมีประสิทธิภาพในการใช้งานกลางๆ
“ระบบเบรก” เรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
ระบบเบรก ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญมากที่ต้องหมั่นสังเกตและคอยดูแล ว่าผ้าเบรกหมดหรือไม่ มีความผิดปกติหรือเสียงที่ผิดแปลกไปในระบบเบรกหรือไม่ ขณะเดียวกัน ควรตรวจเช็กน้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับที่กำหนด รวมทั้งเช็กสีของน้ำมัน ไม่ควรเป็นสีดำคล้ำกว่าปกติ ทั้งนี้หากพบความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเบรกเกิดขึ้นควรรีบนำรถยนต์ไปตรวจสอบหาสาเหตุพร้อมแก้ไขให้เรียบในทันทีก่อนออกเดินทางใกล
โดยทั่วไปแล้วระยะเวลาเปลี่ยนผ้าเบรก จะอยู่ที่ประมาณ 25,000 – 60,000 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะการขับและการจราจรในพื้นที่ รวมไปถึงปัจจัยการใช้งานอื่นๆ เพราะผ้าเบรกเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนที่มีผลต่อความปลอดภัยของรถ เมื่อไหร่ก็ตามที่เหยียบเบรกแล้วได้ยินเสียงดัง “เอี๊ยด” เกิดขึ้น นั่นหมายความว่าผ้าเบรกเริ่มมีปัญหา หรือใกล้หมดแล้ว ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยไว้นานเพราะอาจส่งผลกระทบต่อจานเบรกหรือฝาครอบดรัมเบรกที่อาจจะมีผลทำให้ต้องเสียเงินมากขึ้นในวันข้างหน้า
นอกจากนี้ ควรตรวจเช็กน้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับที่กำหนด รวมทั้งเช็กสีของน้ำมัน ก็ไม่ควรเป็นสีดำคล้ำกว่าปกติ ทั้งนี้หากพบความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเบรกเกิดขึ้นควรรีบนำรถยนต์ไปตรวจสอบหาสาเหตุพร้อมแก้ไขให้เรียบในทันทีก่อนออกเดินทาง
เรื่องที่น่าสนใจ
- 5 สิ่งจำเป็นของรถใหญ่ ที่ยังไงก็ต้องเช็กหรือเปลี่ยนเป็นประจำสม่ำเสมอ
- เคล็ดลับการบำรุงรักษาเชิงป้องกันสำหรับรถบรรทุก
- ปัญหารถเที่ยวเปล่า (Backhaul) ความสูญเปล่าในงานขนส่งและโลจิสติกส์ ต้องหาทางออกอย่างไร?