โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ เดินหน้าแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้เต็มที่ หวังลดปัญหาฝุ่น PM2.5 เร่งขับเคลื่อนนโยบายตัดอ้อยสดส่งมอบโรงงาน พร้อมสนับสนุนรถตัดอ้อยและรับซื้อใบอ้อยสดเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย ล่าสุด ผู้แทนโรงงานน้ำตาลทรายเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ ร่วมกำหนดแผนแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้หวังแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
เมื่อไม่นานมานี้ คุณปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า ทางโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานระดับจังหวัดและหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างเต็มที่ โดยเร่งสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาตัดอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงาน ผ่านโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อจัดหารถตัดอ้อยแก่ชาวไร่อ้อย เพื่อทดแทนการจัดเก็บผลผลิตด้วยแรงงานคนที่มีต้นทุนสูง
รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจชาวไร่ตัดอ้อยสดด้วยการรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 800 บาท นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และมีการหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตัน เพื่อนำไปเพิ่มให้กับอ้อยสด สนับสนุนให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด ลด/เลิกการเผาอ้อย ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อยเป็นน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานได้ประโยชน์สูงสุดร่วมกัน
ขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลเห็นว่า กฎระเบียบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ระบุว่า โรงงานไม่สามารถปฏิเสธการรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยได้ ยกเว้นกรณีที่ค่าความหวานอ้อยมีคุณภาพต่ำกว่า 6 ซี.ซี.เอส.และอ้อยไฟไหม้มีความบริสุทธิ์ไม่ได้มาตรฐานนั้น หากโรงงานปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ก็จะผิดกฎระเบียบและถูกลงโทษปรับถึง 500,000 บาท จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงานและไม่เอื้อต่อแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ดังนั้น การแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น โรงงานน้ำตาลจะเร่งให้ความรู้แก่ชาวไร่อ้อยเพื่อสร้างความตระหนักถึงการทำการเพาะปลูกอ้อยอย่างยั่งยืน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและความสมดุลของระบบนิเวศไปพร้อมกัน โดยมุ่งส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนการใช้แรงงานคน ตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนการปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกกอ้อยแบบดั้งเดิมไปสู่รูปแบบการเพาะปลูกรูปแบบใหม่
“การแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้มีความยั่งยืนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล เพื่อกำหนดแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการจัดวางกรอบแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อจูงใจให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด และเกิดการร่วมมือกันแก้ปัญหานี้แบบบูรณาการ” ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าว
ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งตัวแทนชาวไร่อ้อยและผู้แทนโรงงานน้ำตาลประชุมหารือมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเกิดฝุ่น PM2.5 ให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าข้อมูลของ GISTDA ได้รายงานสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2553-2562) จากพื้นที่เผาไหม้ซ้ำซากทั่วประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่มาจากการเผาป่า และเผาเศษวัสดุทางการเกษตรมากที่สุด ส่วนการเผาอ้อยเป็นเพียงส่วนน้อย
สอดคล้องข้อมูจากสำนักข่าวอิศรา ที่พบว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา การเผาไหม้ในพื้นที่ป่าและภาคการเกษตร รวมประมาณ 35 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาข้าวประมาณ 20 ล้านไร่ คิดเป็น 57% รองลงมาได้แก่ ป่าไม้ 9.7 ล้านไร่ คิดเป็น 28% โดยมีเพียงส่วนน้อยเกิดจากการเผาอ้อย 2.7 ล้านไร่ คิดเป็น 8% อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล พร้อมเร่งดำเนินการแก้ปัญหานี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
ดันระบบเกษตร Net Zero นำร่องรับรองคาร์บอนเครดิตพืชเศรษฐกิจอ้อย
นอกจากนี้ เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรยังได้จับมือ FAO ขับเคลื่อน ระบบเกษตร Net Zero นำร่องรับรองคาร์บอนเครดิตพืชเศรษฐกิจอ้อย ปาล์ม ยาง ข้าว ในภาคการเกษตรไทยและภูมิภาคอาเซียน
โดยมีการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เรื่อง Pathways to Net Zero for Agrifood and Land Use Systems in Asia ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมการประชุมถึง 100 ราย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อพัฒนาและดำเนินการตามลำดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด และยุทธศาสตร์ระยะยาวของภาคการเกษตรและการใช้ประโยชน์ที่ดิน เสริมสร้างระบบความโปร่งใสในการติดตามและการรายงาน เพิ่มความพร้อมในการเข้าถึงการเงินผ่านการปฏิบัติตามกฎระเบียบและเพื่อขยายการดำเนินการในตลาดคาร์บอนโดยสมัครใจ ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลและนำมาสู่การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้านการปล่อยมลพิษต่ำสำหรับระบบเกษตรกรรมและภาคป่าไม้ที่ยืดหยุ่น
ซึ่งตามที่มีการลงนามความร่วมมือ ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร กับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ครั้งนี้ ได้มีการสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้คือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program)
นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังพร้อมร่วมมือ ผลักดันและยื่นโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณจาก Green Climate Fund ซึ่งเป็นงบประมาณสนับสนุนจาก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สำหรับโครงการวิจัยศึกษาพัฒนาการประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการประเมินคาร์บอนเครดิต ในพืชนำร่อง 4 ชนิด คือ ปาล์มน้ำมัน ยางพาราและ ข้าว บนพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรกว่า 2,500 ไร่ ทั้งยังเตรียมประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิ บริษัทมิตรผล เพื่อเตรียมพัฒนาวิธีการและขั้นตอนการวัดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการรับรองคาร์บอนเครดิตทางการเกษตร นำร่องในอ้อย
โดยกรมวิชาการเกษตรมีเป้าหมายที่จะพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สามารถเป็นผู้รับรองการตรวจประเมินโครงการ และรับรองการคำนวณคาร์บอนเครดิตด้านการเกษตร รวมถึงพัฒนาและนำพื้นที่ปลูกพืชที่มีครอบคลุมอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศของกรมวิชาการเกษตร ขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ เพื่อเป็น “คาร์บอนเครดิต” ของหน่วยงาน และจากความร่วมมือของประเทศสมาชิก และการดำเนินการความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดจากหลายภาคส่วนด้านการเกษตร ในฐานะที่กรมวิชาการเกษตรเป็นประธาน ASEAN CRN ถึงเวลาแล้วที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้คำมั่นไว้ว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Neutrality) ในปี 2608
เรื่องที่เกี่ยวข้อง