เมื่อสัปดาห์ก่อนโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงทั้งประเทศ ได้เตรียมความพร้อมร่วมมือกับหน่วยงานระดับจังหวัดและหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างเต็มที่ โดยเร่งสนับสนุนให้ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาตัดอ้อยสดส่งมอบให้แก่โรงงาน ผ่านโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อจัดหารถตัดอ้อยแก่ชาวไร่อ้อย เพื่อทดแทนการจัดเก็บผลผลิตด้วยแรงงานคนที่มีต้นทุนสูง

รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจชาวไร่ตัดอ้อยสดด้วยการรับซื้อใบอ้อยในราคาตันละ 800 บาท นำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และมีการหักเงินค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตัน เพื่อนำไปเพิ่มให้กับอ้อยสด สนับสนุนให้ชาวไร่ตัดอ้อยสด ลด/เลิกการเผาอ้อย ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการหีบสกัดอ้อยเป็นน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานได้ประโยชน์สูงสุดร่วมกัน

ขณะเดียวกัน โรงงานน้ำตาลเองเห็นว่า กฎระเบียบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ระบุว่า โรงงานไม่สามารถปฏิเสธการรับซื้ออ้อยจากชาวไร่อ้อยได้ ยกเว้นกรณีที่ค่าความหวานอ้อยมีคุณภาพต่ำกว่า 6 ซี.ซี.เอส.และอ้อยไฟไหม้มีความบริสุทธิ์ไม่ได้มาตรฐานนั้น หากโรงงานปฏิเสธรับผลผลิตอ้อยไฟไหม้ก็จะผิดกฎระเบียบและถูกลงโทษปรับถึง 500,000 บาท จึงไม่เป็นธรรมต่อโรงงานและไม่เอื้อต่อแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ดังนั้น การแก้ปัญหาในระยะยาวนั้น โรงงานน้ำตาลจึงได้เร่งให้ความรู้แก่ชาวไร่อ้อยเพื่อสร้างความตระหนักถึงการทำการเพาะปลูกอ้อยอย่างยั่งยืน และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและความสมดุลของระบบนิเวศไปพร้อมกัน โดยมุ่งส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนการใช้แรงงานคน ตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนการปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกกอ้อยแบบดั้งเดิมไปสู่รูปแบบการเพาะปลูกรูปแบบใหม่


“รถตัดอ้อย” เทคโนโลยีที่เข้ามายกระดับให้กับภาคการเกษตร

สำหรับการเก็บเกี่ยวอ้อย ถือเป็นขั้นตอนสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยตลอดฤดูกาล เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องนำผลผลิตจากไร่ส่งเข้าโรงงาน ซึ่งในอดีตนั้นเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยแรงงานคนจำนวนมากเมื่อ จนเกิดปรากฏการณ์สร้างงานในเทศกาลตัดอ้อยให้แก่แรงงานเกษตรทั่วประเทศ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ค่านิยมการทำงานรับจ้างเป็นแรงงานในไร่อ้อยเริ่มลดน้อยถอยลง คนเริ่มหันหน้าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลให้แรงงานเกษตรหายาก จนเทคโนโลยีเครื่องมือเกษตรในประเภทต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมารองรับการทำงานในไร่มากขึ้น ดังนั้น “รถตัดอ้อย” จึงกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเกษตรที่ทันสมัย ที่ได้ใจเถ้าแก่ไร่อ้อยไปในที่สุด เพราะด้วยประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวอ้อยได้แบบรวดเร็วทันใจ รวมทั้งยังสามารถลดการใช้แรงงานคนและลดเวลาทำงานในไร่ได้เป็นอย่างดี

รถตัดอ้อยในประเทศไทยนิยมใช้แบบไหนบ้าง ?

จากข้อมูลของ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ระบุว่าปัจจุบัน เครื่องตัดอ้อยที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ เครื่องตัดอ้อยแบบตัดเป็นลำ โดยต้นอ้อยที่ถูกตัดโดยเครื่องนี้จะทำงานร่วมกับมือหนีบอ้อย แล้วลำเลียงขึ้นรถบรรทุกขนส่งอ้อยไปยังโรงงานผลิต โดยเครื่องจักรเหล่านี้มักจะมีการนำเข้ามาจากฝั่งประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิลและญี่ปุ่น

เครื่องตัดอ้อยแบบตัดอ้อยออกเป็นท่อน โดยรถเครื่องจะตัดอ้อยส่วนยอดและโคนทิ้งก่อน แล้วจึงทำการตัดลำอ้อยออกเป็นท่อน แล้วลำเลียงขึ้นรถขนส่งไปยังโรงงานผลิตน้ำตาลต่อไป ซึ่งรูปแบบนี้จะนำเข้ามาจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก และมีบางส่วนนำเข้ามาจาก อเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น และเป็นที่นิยมใช้กันมากกว่าประเภทแรก

การใช้รถตัดอ้อย จึงต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด และต้องมีการคำนวณความคุ้มค่าทางการลงทุนก่อนเสมอ เพราะพื้นที่ที่เหมาะสมในการใช้รถตัดอ้อยนั้น ต้องเป็นสภาพไร่ที่ไม่ลาดเอียง ไม่มีตอไม้หรือก้อนหินที่ขัดขวางการทำงานของรถ และจะต้องไม่มีน้ำขังเฉอะแฉะ เพราะอาจทำให้รถเกิดอุบัติเหตุ และอาจทำให้ใบมีดตัดอ้อยที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในรถตัดอ้อยได้รับความเสียหาย เมื่อกระแทกกับตอไม้หรือก้อนหินในบริเวณไร่อ้อยได้

ส่วนขนาดของไร่ที่เหมาะสมในการใช้เครื่องจักรประเภทนี้ ควรมีพื้นที่มากกว่า 20 ไร่ มีแถวและแนวการปลูกอ้อยที่ยาวเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานของเครื่องจักร ยิ่งพื้นที่เป็นทรงสี่เหลี่ยม มีพื้นที่หัวท้ายไร่ให้รถสามารถกลับตัวได้ จะยิ่งทำให้เครื่องจักรทำงานได้ง่ายขึ้น และเป็นการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย

ซื้อรถตัดอ้อยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม

ดังนั้น  การเลือกซื้อรถตัดอ้อย จึงต้องพิจารณาเครื่องตัดที่มีการลำเลียงอ้อยโดยไม่ดึงรากอ้อย โดยให้เครื่องจักรสามารถตัดอ้อยได้ ยิ่งมีชิ้นส่วนที่ไม่ซับซ้อนก็จะทำให้เราดูแลรักษาได้ง่าย และน้ำหนักตัวรถไม่หนักจนทำให้ดินในไร่ยุบตัว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการปลูกอ้อยในรุ่นถัดไป เครื่องตัดอ้อยที่ตัดท่อนอ้อยได้สั้นนั้นจะมีข้อดีที่ไม่กินพื้นที่บนรถบรรทุกมาก ทำให้เราสามารถขนส่งผลผลิตได้มากขึ้น ซึ่งทุกองค์ประกอบนั้นเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึง เพราะมีผลต่อต้นทุนในการดำเนินงานทั้งสิ้น

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นรถตัดอ้อยชาวไร่ และของโรงงานรวมกันทั้งประเทศแล้วหลายพันคัน มีทั้งแบบตัดเป็นลำวางราย ตัดเป็นลำวางกอง และตัดเป็นท่อนแล้วลำเลียงใส่รถบรรทุก ซึ่งประโยชน์ที่สำคัญของการเก็บเกี่ยวโดยใช้รถตัดคือ ลดการเผาอ้อย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฝุ่น ควัน มลพิษ เช่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมวาระสำคัญของชาติในช่วงฤดูแล้ง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนในการซื้อรถตัดอ้อยค่อนข้างใช้งบประมาณสูง เกษตรกรรายเล็กรายน้อยจึงอาจเข้าถึงยาก เพราะการจะซื้อรถตัดอ้อยหนึ่งคันนั่นยิ่งหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายจะตามมาอีกมาก รวมทั้งรถตัดอ้อยอาจจะใช้ได้ในบางพื้นที่เนื่องจากเกษตรกรบางราย มีการปลูกอ้อยระยะห่างน้อยกว่าขนาดหน้ารถตัดอ้อย ปัจจัยดังกล่าวจึงส่งผลให้มีเพียงผู้ประกอบการไร่อ้อยรายใหญ่หรือนายทุนที่มีกำลังซื้อสามารถเขาถึงรถตัดอ้อยได้แล้วนำไปรับจ้างกับเกษตรกรรายเล็กรายน้อยเท่านั้น ซึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมในทุกพื้นที่

หรือหากเป็นไปตามที่โรงงานน้ำตาลเดินหน้าแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ โดยการสนับสนุนรถตัดอ้อยและรับซื้อใบอ้อยสดเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีและมีแนวโน้มนำไปสู่การหาทางออกเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้

เรื่อที่เกี่ยวข้อง 

Advertisement