คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินงานด้านจัดการโลจิสติกส์ของธุรกิจยุคปัจจุบัน ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับซัพพลายเชนนี้มีการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยมลพิษออกสู่สภาพแวดล้อม ทั้งบก ทางอากาศ ทางน้ำ และทางเสียง เป็นต้น อีกทั้งยังกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ยังเห็นได้ชัดว่าภาวะโลกร้อนในปัจจุบันอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกมีการละลาย และปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะ ฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ได้ผลตามเป้าหมาย
ภาวะโลกร้อน ประเด็นปัญหาที่คนหันมาสนใจ
ซึ่งหลายคนมองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น โดยทั่วโลกเริ่มหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นมาตรการหรือข้อกีดกันทางการค้าของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กำลังผลิตสินค้า บริการ ตลอดจนกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ที่ทุกธุรกิจขาดไม่ได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้สินค้าที่ส่งออกไปขายต่างประเทศต้องแสดงรายการว่า เป็นสินค้าที่ผลิตมาจากประเทศใด รวมถึงตลอดวงจรชีวิตของสินค้านั้นมีการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าใด ดังนั้น ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้สินค้าได้รับการยอมรับมากขึ้น และไม่ให้ถูกใช้เป็นข้ออ้างกีดกันทางการค้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ปริมาณคาร์บอนที่มีอยู่ในสินค้า ซึ่งสินค้าที่มีสัญลักษณ์คาร์บอนฟุตพริ้นท์จะได้รับความไว้วางใจในระดับนานาชาติ
ไทยมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากข้อมูลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยมีความจะพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 (2573) โดยลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า, การจัดการขยะ, การปลูกป่า, การลดหมอกควันให้เหลือ ร้อยละ 0 ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถลดลงไปได้แล้วจากภาคพลังงานได้แล้วหลายล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คาดว่า ในปี 2559 ธุรกิจไทยทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง-ย่อม จะเข้าไปลงทุนหรือขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่า กลุ่มอาหาร ก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค พลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์และพลังงาน
แนวทางการพัฒนาลดก๊าซเรือนกระจก ควรได้รับการสนับสนุนจาก 3 ฝ่าย ดังนี้
1. ภาครัฐ ควรให้การสนับสนุนภาคธุรกิจในการทำรายงานการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และให้การสนับสนุนทางการเงินและภาษีสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้ประกอบการ อีกทั้งกระตุ้นภาคเอกชนให้เกิดความสนใจและให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ให้กับภาคประชาชน (ผู้บริโภค) ให้ได้รับรู้ในเรื่องนี้ถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก็จะทำให้ผู้บริโภคมีภูมิคุ้มกันต่อการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการบริโภค
2. ภาคเอกชน ควรวางนโยบายในเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญ เช่น กรีนโลจิสติกส์ และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยอาจพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิต เริ่มตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังจากการใช้งาน โดยใช้หลักการแนวคิดของการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment : LCA) รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เกิดการลดละเลิกพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ต่อสิ่งแวดล้อม
3. ผู้บริโภค ต้องมีจิตสำนึกโดยคำนึงถึงการซื้อสินค้า/บริการ ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมานั้นมีการปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น อาหารสำเร็จรูป ทีวี เครื่องเสียง เครื่องเล่นดีวีดี โทรศัพท์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน และพัดลม เป็นต้น โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ข้อมูลข่าวสารสามารถส่งต่อถึงกันได้ง่าย ควรมีการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ส่งต่อกันทั้งในรูปแบบข้อความ เสียง และวิดีโอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริโภคคำนึงถึงการบริโภคที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มมากขึ้น
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด 3 ประการนั้น แม้ฟังดูอาจเป็นเรื่องยาก เพราะต่างฝ่ายต่างมีข้อจำกัดที่มีความแตกต่างกันไป หากแต่ละฝ่ายดำเนินบทบาทของตนเองให้ดีที่สุด ก็ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมและผลเชิงบวกได้ในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีทรัพยากรและมีความคล่องตัวจะต้องตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างมากเพราะการดำเนินธุรกิจอย่าแค่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถกระทำได้อีกแล้วในยุคนี้ ในทางกลับกันต้องใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาภาวะโลกร้อน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหลายประเทศได้กลายเป็นข้อกำหนดและข้อบังคับทางการค้าไปแล้ว
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- 5 เทรนด์สำคัญน่าจับตา ที่เข้ามามีผลต่ออนาคตธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในปี 66
- Green Logistics ปัจจัยสำคัญที่ธุรกิจขนส่งต้องมี
- “กรีนซัพพลายเชน” ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการ SMEs
อ้างอิงข้อมูลจาก : องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)