หลายท่านคงทราบกันดีว่าการควบคุมรถด้วยการเบรคนั้น มีความสำคัญอย่างมากในการหยุดรถ เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุหรือผ่อนหนักเป็นเบา ดังนั้น บทความนี้เราจึงอยากเอาแนวทางจากผู้ชำนาญการสอนการขับรถท่านหนึ่งที่เคยให้ความรู้กับเรามาอย่างยาวนานเมื่อครั้ง BUS & TRUCK ยังตีพิมพ์ในรูปแบบนิตยสารกันครับ
ซึ่งหากเราจะพูดถึงมูลค่าหรือราคาของระบบเบรคทั้งระบบก็คงทราบว่าเมื่อคิดรวม ๆ กันแล้วราคาก็ไม่ได้แพงมาก เพราะประกอบด้วยอะไหล่ไม่กี่ชิ้น แต่ภาระและหน้าที่ของระบบเบรคนั้นมากมายและมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจากอุบัติเหตุที่เกิดจากความล้มเหลวของเบรคในรถใหญ่หรือรถใหญ่นั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะความชำนาญหรือทักษะ ของผู้ทำหน้าที่ขับรถ การบำรุงรักษาดูแลระบบเบรคทั้งระบบ ระดับน้ำมันเบรคและการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรคตามระยะเวลาที่กำหนดตามคู่มือรถ หรือแม้แต่การใช้ผ้าเบรกที่สึกหรอมากเกินไป
ความชำนาญถือเป็นปัจจัยสำคัญ
ความชำนาญของผู้ขับรถจะทำให้เกิด 2 อย่างคือ “เบรกทัน” และ “เบรกไม่ทัน” โดยเราจะขอเน้นพูดถึงเฉพาะในส่วนที่ 2 คือการเบรกไม่ทัน ว่าเกิดจากอะไรและพอจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะดังกล่าว แล้วการเบรคให้ทันนั้นมีวิธีการอย่างไร หรืออะไรคือสูตรสำเร็จสำหรับนำมาปฏิบัติ “สูตรสำเร็จ” (Best Practice) ซึ่งในที่นี้หมายถึงวิธีที่ผ่านกระบวนการวิจัยหรือเป็นวิธีการปฏิบัติที่ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล การนำเอาสูตรสำเร็จที่มีอยู่แล้วมาใช้ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องไปค้นคว้าหรือศึกษาอะไรเพิ่มเติมให้เสียเวลา
ยกตัวอย่าง กรณีศึกษาของนักขับหลายท่านในอดีต ที่เคยผ่านการขับรถและได้ใบขับขี่มา พอมาทำงานขับรถก็ไม่ได้รู้วิธีเบรคหรือระยะเบรคมาก่อนเลย เพราะการสอบใบขับขี่ในสมัยก่อนก็ไม่ได้มีสื่ออบรมที่บอกระยะเบรคเหมือนอย่างปัจจุบัน เมื่อได้ใบขับขี่มาแล้วก็ขับตามวิธีคิดของตนเอง แต่เมือมาต่อใบขับขี่ในยุคปัจจุบันก็ได้ทราบถึงแนวทางการขับให้ห่าง ๆ ไว้
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีสถาบันสอนฝึกอบรมการขับรถใหญ่โดยเฉพาะทำให้ผู้เรียนได้มีโอกาสรู้หลายอย่างและรู้ระยะสำหรับการขับรถทิ้งระยะห่างจากคันหน้าเพื่อให้สามารถเบรคให้รถหยุดได้โดยไม่ชนท้ายรถคันหน้าหรือมีระยะเบรคหยุดที่เพียงพอ ซึ่งการอธิบายและการสาธิตของผู้สอนของสถาบันที่มีมาตรฐานทำให้ผู้เข้าอบรมได้เห็นภาพ ได้รับวิธีคิด และได้วิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
วิธีฝึกเบรกรถให้หยุดได้ดั่งใจ
ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการขับขี่ได้ระบุว่า การเว้นทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าขณะที่รถกำลังวิ่ง ควรเว้นอย่างน้อย 4 วินาทีและหากสภาพถนนเปียก สภาพถนนมีปัญหาหรือบรรทุกหนัก รถใหญ่ก็เว้นให้มากกว่า 4 วินาทีหรือประมาณ 6 วินาที ที่มีผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นรูปธรรมก็คือ “ตัวเลข 4 วินาทีและ 6 วินาที” ซึ่งผู้อบรมที่สัมผัสรับรู้ตัวเลขหากลองฝึกและสังเกตตัวเองก็จะเกิดความเข้าใจการเว้นระยะห่างแบบที่ว่ามา
สำหรับบทความนี้เราจะขอยกกรณีศึกษาและขอแปลงตัวเลขพอสังเขป เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านนำไปฝึกใช้การเว้นระยะห่างให้มีระยะเบรคเพียงพอ โดยใช้หลักง่าย ๆ สำหรับรถบรรทุกหนักที่วิ่งความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงควรเว้นระยะห่างเพิ่มขึ้นจากความเร็วอีกสัก 20 – 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็พอ หมายความว่าหากเราวิ่งความเร็ว 60 ก็แปลงเป็นเมตร คือทิ้งระยะห่าง 60 เมตรแล้วบวกเพิ่มไปอีก 20 – 40 เมตร เป็น 80 – 100 เมตร เพียงปฏิบัติเท่านี้ก็จะเบรครถหยุดได้ดั่งใจ
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าสมรรถนะการเบรกของรถจะมีประสิทธิภาพ จะเป็นไปได้เมื่อระบบเบรคสมบูรณ์ทุกอย่างและบรรทุกน้ำหนักตามพิกัดที่กฎหมายกำหนด ซึ่งกรมการขนส่งทางบกเองยังมีวีดีโอสื่ออบรมสำหรับอบรมผู้สอบใบขับขี่ โดยยกตัวอย่างว่ารถที่วิ่งด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้น (รถเล็ก) ระยะเวลา 1 วินาทีรถจะแล่นไปประมาณ 27 เมตร เมื่อรถใช้ระยะเบรค 4 วินาที
ดังนั้น ระยะเบรคหยุดคือ 110 เมตร และสิ่งที่ผู้ขับรถควรทราบก็คือระยะ 110 เมตรที่กะด้วยสายตาคือระยะประมาณเท่าใด กรณีนี้ต้องหมั่นฝึกดูว่าไกลขนาดไหน เพราะหากกะสั้นก็อาจจะเบรคไม่หยุดก็ได้ ที่สำคัญต้องเข้าใจด้วยว่าการเว้นระยะห่างให้เพียงพอนั้นไม่ได้ทำให้การขับรถเกิดความล่าช้ากว่าการขับรถชิดจี้ท้ายคันหน้าเลย
ทั้งนี้ สำหรับรถเกียร์ธรรมดาเมื่อท่านต้องเบรครถก็ขอให้เหยียบเบรคก่อนเหยียบคลัตช์ ซึ่งต้องอธิบายง่าย ๆ ว่าหากเหยียบคลัตช์ก่อนเหยียบเบรคระยะเบรคจะยาวขึ้น และอาจจะมีส่วนให้รถเสียการทรงตัวตามไปด้วย
เรื่องที่น่าสนใจ