การที่ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งคงมาจากการขยายตัวของตัวเมือง พร้อมกับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรและปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นั่นจึงทำให้หลายคนเริ่มหันไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น BUS & TRUCK ได้รวบรวมปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ดังนี้
รัฐบาลมุ่งผลักดัน EV เพื่อแก้ปัญหามลพิษ
เพื่อร่วมแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ รัฐบาลพยายามผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ประเภทไฮบริด รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ ซึ่งตามข้อมูลของสมาคมรถยนต์ไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (EVAT) พบว่ามีจำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนับแสนคัน
ดังนั้น เพื่อให้คนในประเทศแน่ใจว่าแนวโน้มของยานยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รัฐบาลจึงเร่งให้มีการพัฒนาและสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าที่มีความน่าเชื่อถือ รองรับกับความต้องการและสร้างความมั่นใจให้ผู้ที่ขับขี่ยานยนต์ไฟฟ้า และให้สามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ โดยภายในปี 2573 รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยร้อยละ 50 หรือ 1.25 ล้านคัน เป็นรถยนต์ไฟฟ้า
BOI หนุน EV ในทุกมิติ
นับตั้งแต่ในปี 2560 เป็นต้นมา BOI ได้เตรียมการลงทุนเรื่องนโยบายการลงทุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ครอบคลุมทุกเรื่องแล้ว อาทิ การผลิต ความต้องการตลาด การส่งเสริมการลงทุน การสร้างสถานีชาร์จ รถยนต์ใช้ส่วนบุคคล รถยนต์สาธารณะ และชิ้นส่วน ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เข้ามาลงทุนในส่วนของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 20 โครงการ
โดยมีการขอส่งเสริมการลงทุนในการผลิตรถยนต์ ประเภทไฮบริด (HEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) รวมถึงรถพลังงานไฟฟ้า 100% (BEV) และมียอดการผลิตรวมกันหลายแสนคัน ซึ่ง BOI มองว่า ไทยต้องมีขีดความสามารถในการสร้างการรับรู้เรื่องนวัตกรรม ต่อยอด สู่การพัฒนาให้ได้ ซึ่งประเทศไทยเองต้องเข้าใจบริบทของความต้องการ เพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ประเภทสันดาปภายในมานาน ดังนั้น ซัพพลายเชนต้องรีบศึกษาเพื่อจะผันตัวเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
รวมทั้ง ต้องปรับตัวให้ทันทั้งเรื่องเครื่องมือ (Supply) และการขยายตลาด (Demand) ต้องดูเรื่องผู้ผลิตและผู้ใช้งานมีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งจากแผน [email protected] ที่เป็นแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศ ด้วยการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 ทำให้ต้องคิดกลยุทธ์เพื่อให้เกิดการลงทุนที่มากขึ้น อาทิ การผลิตรถบัสพลังงานไฟฟ้า เพื่อการใช้งานขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นถือเป็นจำนวนการผลิตที่ค่อนข้างสูง
กฟผ. หนุนธุรกิจชาร์จรถ EV
ปีที่ผ่านมาประเทศไทย มีรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริด (HEV) วิ่งบนท้องถนนประมาณ 2 แสนคัน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งรถเพื่อการพาณิชย์และเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง จากเรื่องนี้ กฟผ. รัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจในการผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้า พัฒนาสาธารณูปโภคด้านระบบไฟฟ้า จึงมองเห็นโอกาสหันมาต่อยอดธุรกิจสถานีชาร์จรถพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของไทย แม้ปัจจุบันไทยยังต้องนำเข้าหัวชาร์จ ตู้อัดประจุไฟฟ้า และแพลตฟอร์มบริหารจัดการสถานีชาร์จไฟจากต่างประเทศทั้งหมด จึงทำให้ธุรกิจนี้มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง
สรุปปัจจัยสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าในไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
- การรับรู้และเข้าใจด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
- ปัญหามลภาวะทางอากาศหรือฝุ่น PM 2.5 ที่ยังเป็นปัญหาเรื้อรัง ทั้งในกรุงเทพและหลายจังหวัด
- การกำหนดเงื่อนเวลาที่จะยุติการผลิตรถสันดาปของค่ายรถทั่วโลก
- ราคาของรถ EV ที่ถูกลงโดยเฉพาะรถจากประเทศจีนที่เข้ามาเปิดตลาดใหม่
- นโยบายการเพิ่มสถานีชาร์จทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนที่ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง
- ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาผันผวนและมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต
- ราคาของแบตเตอรี่ที่ถูกลงอย่างต่อเนื่อง โดยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา แบตเตอรี่มีราคาลดลงถึง 10 เท่าตัว และในอนาคตมีแนวโน้มจะถูกลงเรื่อย ๆ