เพราะเครื่องยนต์เป็นเครื่องกลที่เปลี่ยนพลังงานความร้อนให้เป็นพลังงานกล ซึ่งพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นพลังงานความร้อนที่ได้รับมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงภายในเครื่องยนต์ (กระบอกสูบ) หรือเรียกอีกอย่างคือการสันดาปเชื้อเพลิงกับอากาศในเครื่องยนต์
ดังนั้น หากชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ไม่ได้รับการระบายความร้อนที่ดีและเพียงพอ จะทำให้เครื่องยนต์ได้รับความเสียหายและก่อให้เกิดอันตรายได้ การระบายความร้อนในเครื่องยนต์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะถ้าหากมีการระบายความร้อนน้อยเกินไปเครื่องยนต์จะร้อนมาก ชิ้นส่วนต่างๆภายในเครื่องยนต์จะได้รับความเสียหาย ยกตัวอย่างเช่น ลูกสูบไหม้ ชาร์ปละลาย ฝาสูบโก่ง เป็นต้น
การระบายความร้อนของเครื่องยนต์แบ่งออกได้ 2 ระบบ
การระบายความร้อนด้วยอากาศ (Air Cooling System) ส่วนใหญ่จะใช้กับเครื่องยนต์ขนาดเล็กสูบเดียว เช่น เครื่องยนต์รถจักรยานยนต์ หลักการระบายความร้อนแบบนี้โดยการใช้อากาศที่ผ่านเครื่องยนต์เป็นตัวรับความร้อนที่ระบายจากเครื่องยนต์ เสื้อสูบและฝาสูบจะออกแบบให้มีลักษณะเป็นครีบ (Fin)เพื่อเพิ่มเนื้อที่การระบายความร้อนให้กับอากาศ จะมีพัดลมติดอยู่ตรงล้อช่วยแรงและมีแผ่นโลหะบังคับทิศทางลมให้ผ่านบริเวณตัวเครื่องเพื่อที่จะให้การระบายความร้อนดีขึ้น
ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว (Liguid Cooling System) ส่วนใหญ่อาศัยน้ำเป็นตัวกลาง(Medium Fluid) ที่รับความร้อนซึ่งระบายจากเครื่องยนต์ และน้ำจะพาความร้อนไประบายออกที่อากาศ น้ำจะเย็นลงและไหลเวียนกลับไปรับความร้อนจากเครื่องยนต์ใหม่ ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวสามารถควบคุมอุณหภูมิของเครื่องยนต์ได้ดีกว่า และช่วยให้เครื่องยนต์เย็นเร็วกว่าระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ
ระบบระบายความร้อนในเครื่องยนต์มีชิ้นส่วนหลัก 5 ส่วน ดังนี้
1.หม้อน้ำหรือรังผึ้ง (Radiator) ทำหน้าที่ถ่ายเทความร้อนจากน้ำให้อากาศด้วยการรับน้ำที่มีความร้อนจากเสื้อสูบ และทำให้เย็นลงโดยให้อากาศที่พัดผ่านรับเอาความร้อนจากน้ำในหม้อน้ำไปและส่วนประกอบในหม้อน้ำก็จะสามารถจำแนกออกได้คือหม้อน้ำส่วนบน หม้อน้ำส่วนล่าง ระหว่างหม้อน้ำส่วนบนและหม้อน้ำส่วนล่างจะมีท่อน้ำเล็กๆหลายท่อเชื่อมอยู่ ทำให้น้ำแยกไหลไปตามท่อตรงบริเวณท่อน้ำเล็กๆเหล่านี้จะมีโลหะเชื่อมติดเป็นครีบ มีลักษณะคล้ายรังผึ้งเพื่อให้เกิดพื้นที่ผิวสำหรับระบายความร้อนได้มาก โดยความร้อนของน้ำจะถ่ายเทความร้อนให้กับอากาศที่พัดผ่าน
2.ปั๊มน้ำ (Water Pump) ปั๊มน้ำส่วนใหญ่จะเป็นปั๊มแบบหอยโข่ง (Centrifugal Pump)ติดตั้งอยู่บริเวณหน้าของเสื้อสูบ และรับกำลังหมุนมาจากสายพาน ปั๊มจะดูดน้ำจากหม้อน้ำส่วนล่างผ่านเข้าตัวปั๊มของท่อน้ำข้างล่าง และไหลออกจากปั๊มเข้าหมุนเวียนอยู่ในช่องว่างภายในเสื้อสูบ ฝาสูบเพื่อรับความร้อนจากส่วนต่างๆ น้ำที่ได้รับความร้อนแล้วจะไหลออกจากเสื้อสูบทางท่อน้ำข้างบนผ่านเทอร์โมสตัตเข้าไปยังหม้อน้ำส่วนบน จากนั้นก็ไหลผ่านบริเวณรังผึ้งเพื่อถ่ายเทความร้อนให้แก่อากาศต่อไป
3.ทางน้ำไหลในตัวเครื่องยนต์ (Water Passage) ช่องว่างที่อยู่ในเนื้อโลหะที่ใช้ทำเป็นเสื้อสูบและฝาสูบ ใช้เป็นทางให้น้ำไหลผ่านเพื่อระบายความร้อนออกจากเครื่องยนต์ ทางน้ำไหลนี้จะมีรอบกระบอกสูบ และตลอดความยาวช่วงชักของลูกสูบ เพื่อเป็นการป้องกันการขยายตัวไม่เท่ากันของกระบอกสูบ
4.เทอร์โมสตัต (Thermostat) จะติดตั้งไว้ตรงท่อน้ำที่ไหลเข้าหม้อน้ำส่วนบน เทอร์โมสตัตจะเปิดและปิดโดยอัตโนมัติด้วยความร้อนที่มีในน้ำที่ไหลผ่าน โดยปกติลิ้นนี้จะปิดและไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านออกไปจากเสื้อสูบได้ ถ้าอุณหภูมิของน้ำยังไม่ร้อนถึงจุดที่กำหนดให้เปิด น้ำก็จะไหลวนเวียนและรับความร้อนเพิ่มจากภายในเสื้อสูบและฝาสูบจนกระทั่งความร้อนของน้ำนั้นสูงถึงอุณหภูมิที่กำหนด เทอร์โมสตัตนี้ก็จะเปิดให้น้ำไหลผ่านเข้าสู่หม้อน้ำและคายความร้อนให้กับอากาศ อุณหภูมิของน้ำที่กำหนดให้เทอร์โมสตัตเปิด จะอยู่ประมาณ 65 องศาเซลเซียส
5.พัดลม (Fan) เมื่อน้ำร้อนไหลผ่านบริเวณรังผึ้ง พัดลมที่อยู่หลังหม้อน้ำก็จะทำหน้าที่เป่าลมให้พัดผ่านหม้อน้ำและพาเอาความร้อนออกจากน้ำไป จากนั้นน้ำก็จะไหลลงสู่หม้อน้ำส่วนล่างและไหลเวียนต่อไป
ดังนั้น หากระบบระบายความร้อนของรถยนต์ทำงานได้ดี เครื่องยนต์ก็จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์ จึงควรหมั่นตรวจสอบชิ้นส่วนในระบบระบายความร้อนของรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ