เทรนด์การใช้รถยนต์สันดาป เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า

เทรนด์การใช้รถยนต์สันดาปภายในลดลง สวนทางยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเติบโตสูงในอนาคต โดยรถ 1 ใน 7 คันบนถนนจะเป็นรถ EV ขณะยอดจำหน่าย EV ทั่วโลกปี 2565 เพิ่มถึง 60% ด้าน EVAT ยืนยันพร้อมร่วมให้ความรู้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหวังให้อุตสาหกรรมรถ EV เติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงาน BUS & TRUCK ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังในเวทีสัมมนา “ยานยนต์ไฟฟ้าและโอกาสทางธุรกิจในอนาคต” ซึ่งต้องยอมรับว่าค่ายรถหลายค่ายต่างหันมาพัฒนารถ EV กันเกือบหมดแล้ว ทั้งฝั่งค่ายรถยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และ ค่ายรถจีนที่มีการเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเพราะเล็งเห็นโอกาสในการขยายตลาด ทั้งนี้ งานเสวนาดังกล่าวต่างมีผู้เชี่ยวชาญในวงการที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ความรู้และมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้

ยอดขายรถ EV ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 60%

คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หรือ EVAT  มุ่งพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีความร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมกับยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป โดยภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก มียอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ราว 10.6 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 60% ถ้าเทียบกับปี 2564 ในส่วนของรถยนต์สันดาปภายในทั่วโลกอยู่ที่ 63.2 ล้านคัน

หากเทียบกับยอดจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายใน ปี 2560 อยู่ที่ 85 ล้านคัน ฉะนั้นจะเห็นเทรนด์การใช้รถยนต์สันดาปภายในลดลง และหากดูจากสัดส่วนของปี 2564 พบว่ามีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 1 ใน 7 คัน คือรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2565 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ 5 ปีที่เเล้ว

ดังนั้น ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยจึงมุ่งที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยให้เข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนด้วยรถยนต์พลังงานสะอาด โดยมีกรรมการและสมาชิกของสมาคมมาร่วมทำงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในด้านการศึกษา การสนับสนุนด้านความรู้แก่ผู้บริโภค และการพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

กฟน.พร้อมซัพพอร์ตระบบชาร์จรถ EV

ขณะที่คุณจาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการธุรกิจและบริการ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า กฟน.พร้อมขับเคลื่อนตามแผนงานด้านพลังงานของรัฐบาล ซึ่งได้มีการออกแบบระบบ Smart Charging สำหรับบ้านอยู่อาศัย เพื่อลดปัญหาการเกิด Overload ของระบบจำหน่าย

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV ในช่วงกลางวันเพื่อนำไปใช้ชาร์จ EV ในช่วงหัวค่ำที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง รวมถึงการติดตั้งสถานีชาร์จ EV เพื่อบริการประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมกับการสร้าง MEA EV Application เพื่อให้บริการประชาชนด้วย

มอเตอร์โชว์มีผู้สนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

คุณจาตุรนต์ โกมลมิศร์ รองประธานจัดงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2565 ซึ่งนับว่ายังมีความท้าทายอย่างมาก เพราะการที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันใช้พลังงานสะอาด ทั้งในภาคการผลิตและการคมนาคมขนส่ง

ซึ่งการจัดงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้รับความสนใจมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวเพิ่มขึ้นของแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าต่างๆ ที่มาเข้าร่วมงาน ดังนั้นเชื่อว่าการให้ความรู้ด้านโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในพันธกิจเพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และเพื่อสร้างโอกาสในด้านธุรกิจใหม่ๆ ด้วย 

ภาพจากฮ้อปคาร์

ความต้องการเช่ารถยนต์ EV มีเพิ่มสูงขึ้น

คุณกฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด กล่าวว่า ฮ้อปคาร์ เป็นโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ที่ตอบสนองการใช้ชีวิตวิถีคนเมืองในปัจจุบัน ทำให้การลงทุนซื้อรถยนต์ไม่เป็นเพียงเพื่อใช้งานเอง แต่ยังเป็นการลงทุนในธุรกิจคาร์แชร์ริ่ง (Car Sharing) ได้อีกด้วย ซึ่งจากงานวิจัย คาร์แชร์ริ่ง (Car Sharing) หนึ่งคัน จะสามารถช่วยลดจำนวนรถในพื้นที่นั้นๆ ลงได้ 6-10 คัน พื้นที่ที่เหลือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ เช่น ช่องทางจักรยาน พื้นที่ทางเท้า เป็นต้น

ปัจจุบัน ฮ้อปคาร์มีการนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยลูกค้าส่วนใหญ่สนใจเช่ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อทดลองใช้งานโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อเพื่อให้แน่ใจว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นตอบโจทย์การใช้ชีวิตในสังคมเมือง ทำให้อัตราการเช่ารถยนต์ระบบไฟฟ้าของฮ้อปคาร์ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สถานีชาร์จเตรียมขยายตัวตามจำนวนผู้ใช้

คุณพูนพัฒน์ โลหารชุน  ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด สตาร์ทอัพและผู้นำด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า กล่าวว่า ปัจจุบันสถานีอัดประจุไฟฟ้าในประเทศไทยมีประมาณ 3,000 กว่าหัวจ่าย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้า ที่จดทะเบียนเมื่อสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนกว่า 32,000 คัน เท่ากับว่าสถานีอัดประจุไฟฟ้าคิดเป็น 10% ของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่

“จากงานวิจัยในประเทศไทยเผยว่า บ้านเรือน คอนโด อาคารสำนักงาน เหมาะที่จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีจำนวน 10% ถือว่าเพียงพอ เเต่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2565 นี้อาจจะแตะหลัก 5 หมื่นคัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นโอกาสในการขยายตัวของสถานีชาร์จไฟฟ้าในอนาคตที่จะต้องขยายตัวตามจำนวนผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้สอดคล้องกัน”

บ.ประกันเตรียมรุกกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

คุณสุรเดช พานิช ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล บริษัท ซันเดย์ อินส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทซันเดย์ อินส์ ได้นำเทคโนโลยีและการประกันมารวมกันเพื่อยกระดับการให้บริการรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ประกันและการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประกันทั่วไปราคาเบี้ยประกันจะถูกหารจากความเสี่ยงของทุกคน แต่ที่ซันเดย์เราให้ AI เข้ามาคำนวณเบี้ยประกันโดยราคาเบี้ยของแต่ละคนจะถูกออกแบบตามความเสี่ยงของแต่ละคน โดยในปัจจุบันซันเดย์รองรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 2 แบรนด์ ได้แก่ MG และ ORA ซึ่งในอนาคตเรามีแผนที่จะขยายการรับประกันรถยนต์ไฟฟ้าอีกมากมาย

รถ EV นำไปสู่การบริหารจัดการพลังงานของตัวเอง

คุณปริญ กัญจนาทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซินเนอร์ยี่ซัน จำกัด  กล่าวว่า เมื่อมีรถไฟฟ้ามากขึ้นภาครัฐก็ต้องเพิ่มโรงไฟฟ้ามากขึ้นตาม ดังนั้น ภาคประชาชนสามารถช่วยกันแบ่งเบาภาระนี้ได้โดยการติดตั้ง Solar Rooftop และสิ่งที่สำคัญคือพฤติกรรมของผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์มักจะคอยเฝ้าดูเสมอว่าวันนี้บ้านตนใช้พลังงานเท่าไหร่ โซลาร์เซลล์วันนี้ผลิตได้เพียงพอหรือไม่ จนเกิดพฤติกรรมอนุรักษ์และบริหารจัดการพลังงานของตัวเองด้วย โดยปัจจุบันยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมทุกประเภทมีจำนวน กว่า 36,775 คัน และมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เวทีสัมมนา “ยานยนต์ไฟฟ้าและโอกาสทางธุรกิจในอนาคต”
Advertisement