เลือกตั้งแล้ว ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ไทย จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้?

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยในปัจจุบันยังคงมีการแข่งขันกันสูง ทั้งจากกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการไทย เพราะมีความเชี่ยวชาญในการบริหารห่วงโซ่อุปทาน มีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยอมกินกำไรน้อยเพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ทำให้ธุรกิจคนที่มีเงินทุนน้อยแข่งขันด้วยยาก

ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤตโควิด19 ส่งผลกระทบทั่วโลกการเข้ามาของทุนต่างชาติโดยเฉพาะทุนจีนจึงหยุดชะงัก แต่ทว่าการขนส่งสินค้าภายในประเทศที่เป็นของทุนจีนยังเติบโตไปได้ เพราะเทรนด์การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจขนส่งอาหาร ธุรกิจขนส่งพัสดุแบบเร่งด่วน หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ เกิดขึ้นตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด

กระแสการเข้ามาของทุนต่างชาติจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้?

จากที่ติดตามดูแล้วตอนนี้มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคโลจิสติกส์รายใหญ่เตรียมที่จะเข้ามาลงทุนที่เมืองไทย แต่ยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจเพราะอยากจะดูรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งว่า นโยบายเป็นอย่างไร ยังสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติมากน้อยเท่าไหร่

เพราะการลงทุนทำธุรกิจ ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนระดับหมื่นล้าน ไปจนถึงแสนล้านบาท เมื่อเข้ามาแล้วก็ไม่สามารถถอนทุนไปในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น จึงต้องรอความชัดเจนหลังจัดตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จ ซึ่งตรงนี้เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นให้กลุ่มนักลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด

ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย

ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มติ ครม. ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย 2566-2570 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ระบบโลจิสติกส์เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าที่สำคัญในอนุภูมิภาคและภูมิภาค โดยขับเคลื่อนผ่าน 5 แนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ดังนี้

พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง

1.สร้างโครงข่ายการเชื่อมโยงการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระหว่างท่าเรือ รถไฟ ถนน และท่าอากาศยานอย่างครอบคลุม เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่อุตสาหกรรมและด่านชายแดนสำคัญ 2.พัฒนาศูนย์บริการโลจิสติกส์และปรับปรุงด่านชายแดนที่สำคัญ 3.บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและศูนย์บริการโลจิสติกส์ และ 4.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ยกระดับมาตรฐานและเพิ่มมูลค่าโซ่อุปทาน

1.พัฒนาการบริหารจัดกรโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร 2.พัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมต่อการเติบโตของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม และ 3.การดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาพิธีการศุลกากร กระบวนการนำเข้า-ส่งออก

1.พัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากระบบ National Single Window (NSW) 2.พัฒนากระบวนการโลจิสติกส์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 3.พัฒนาการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดนและข้ามแดน 4.เร่งพัฒนาความร่วมมือและแก้ไขอุปสรรคการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และ 5.ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ

พัฒนาศักยภาพ Logistics Service Providers: LSPs

เช่น 1.เสริมสร้างศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และ 2.ยกระดับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยสู่เวทีสากล

ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านโลจิสติกส์

1.ส่งเสริมการวิจัยและนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัยภายในประเทศ 2.ส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนากิจกรรมโลจิสติกส์ 3.พัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ และ 4.ติดตามและประเมินผลการพัฒนาด้านโลจิสติกส์

ธนาคารโลกยกโลจิสติกส์ไทยเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน

รายงานดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ประจำปี 2566 ของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่าไทยได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีระบบโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพสูงเป็นอันดับที่ 34 ของโลก จากทั้งหมด 139 ประเทศ และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน (ที่มา: https://lpi.worldbank.org/international/global)

โดยธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ประจำปี 2566 ซึ่งวัดความสามารถของประเทศต่าง ๆ 139 ประเทศ ในการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดน จากการประเมิน 6 ตัวชี้วัด โดยประเทศไทยได้คะแนนในแต่ละตัวชี้วัด ดังนี้ 1.พิธีการศุลกากร 3.3 คะแนน 2. โครงสร้างพื้นฐาน 3.7 คะแนน 3. การเตรียมการขนส่งระหว่างประเทศ 3.5 คะแนน 4.สมรรถนะผู้ให้บริการโลจิสติกส์ 3.5 คะแนน 5. ระบบการติดตามและตรวจสอบ 3.6คะแนน และ 6.ความตรงต่อเวลาของการบริการ 3.5 คะแนน

โดยไทยมีคะแนนเฉลี่ยรวม 3.5 คะแนน เพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนในปี 2561 ซึ่งไทยได้คะแนนเฉลี่ยรวม 3.41 คะแนน ซึ่งในปีนี้ไทยได้รับการจัดอันดับที่ 34 ของโลก และอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งได้อันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 4.3 คะแนน และมาเลเซียได้อันดับที่ 26 ของโลก ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.6 คะแนน

ปัจจุบัน ภาคโลจิสติกส์ของไทยมีศักยภาพสูงขึ้น นั่นหมายความว่ายังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ยกตัวอย่าง การส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งเป็นโอกาสของการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) ช่วยอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าประเภทอาหารให้สามารถคงความสดใหม่ และคงคุณภาพตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ถือเป็นการสร้างประโยชน์อย่างมากกับกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย

Advertisement