CP FOTON อัพเดตความคืบหน้าโรงงานประกอบรถบรรทุกในประเทศไทย ใกล้เตรียมส่งมอบล็อตแรกให้ลูกค้า คาดปีนี้มียอดขายไม่ต่ำกว่า 600 คัน ชูรถบรรทุกไฟฟ้าได้รับการตอบรับที่ดีและมีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ปกธง ปี 67 รุกตลาดเต็มสูบ

คุณกฤษณะ เศรษฐธรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถเพื่อการพาณิชย์แบรนด์ “CP FOTON” เปิดเผยถึง ความคืบหน้าแผนดำเนินการโรงงานผลิตรถบรรทุก ว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567 ได้เริ่มทดลองประกอบต้นแบบเครื่องยนต์ และชุดเฟืองท้าย รวมถึงทดลองวิ่งใช้งาน โดยในไตรมาสที่ 4 ปีหน้า จะเริ่มประกอบเพื่อส่งมอบล็อตแรกให้กับลูกค้า

สำหรับไลน์การผลิตแรกจะมุ่งเน้นไปที่รถบรรทุก 10 ล้อ (ทั้งช่วงสั้น-ยาว), รถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อทำรถดัมพ์ที่ใช้งานในเหมือง เนื่องจากเป็นรุ่นที่เสียภาษีนำเข้าสูงที่สุด (40%) โดยปัจจุบัน CP FOTON ได้ช่วยเหลือลูกค้าเรื่องแบกภาระต้นทุน เสมือนเป็นการจำหน่ายโดยไม่มุ่งเน้นกำไรอยู่แล้ว ดังนั้น รถที่ผลิตในประเทศไทยอาจไม่มีผลต่อการปรับลดราคาขายในอนาคตมากนัก การแข่งขันและยอดการผลิตยังแตกต่างกันมาก จึงทำให้ต้นทุนยังสูงอยู่

โรงงานไทยผลิตพวงมาลัยขวา

ขณะที่ โรงงานที่ประเทศไทยจะประกอบรถบรรทุกเครื่องยนต์สันดาปพวงมาลัยขวา สำหรับจำหน่ายในประเทศ และส่งออก อินโดนีเซีย ก่อนขยายสู่กลุ่มตลาดที่ใช้พวงมาลัยขวาในภูมิภาคเอเชีย อาทิ ประเทศอินเดียอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และฮ่องกง

ทั้งนี้ สัดส่วนระหว่างการจำหน่ายภายในประเทศ กับสัดส่วนการส่งออกไปต่างประเทศ บริษัทยังไม่กำหนดแน่ชัดเนื่องจากจะต้องพิจารณา Volume ของรุ่นที่จะทำตลาดร่วมกันด้วย แต่ระยะแรกของการผลิตจะเป็นรถเครื่องยนต์สันดาปทั้งหมด ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีกำลังผลิตที่ 1,500 คัน

ส่วนปัจจัยที่ยังไม่เริ่มผลิตรถบรรทุกไฟฟ้าที่โรงงานไทย เนื่องจากประเทศอื่น ๆ ยังไม่ตื่นตัวเท่า ประเทศไทย จึงยังไม่สอดคล้องกับการลงทุนระยะแรก

อัพเดตสถานการณ์ด้านยอดขาย

สำหรับ ยอดขายในปี 2566 ช่วงไตรมาสที่ 3-4 บริษัทได้เร่งส่งมอบให้กับลูกค้าฟลีท ทั้งรถยนต์เครื่องสันดาปและรถพลังงานไฟฟ้า ที่ผ่านการวิ่งทดสอบมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว โดยมีการส่งมอบและทดสอบระยะ 2 ของลูกค้าเดิมที่สั่งซื้อไปแล้ว เช่น TPI และ Home Pro เป็นต้น

 ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีการกระตุ้นตัวแทนจำหน่าย ให้มีกิจกรรมการตลาดในพื้นที่มากขึ้น ผ่านกลุ่มร้านขายสินค้าช็อปสโตร์ Modern Trade อาทิ ไทยวัสดุ และ Do Home เพื่อให้เข้าถึงเป้าหมายได้อย่างใกล้ชิด

ส่วนสาเหตุที่ยอดขายหล่นจากเป้าคาดการณ์เล็กน้อย เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้ครัวเรือน เหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยากขึ้น ประกอบกับมีเรื่องการปรับโครงสร้างดอกเบี้ย จึงส่งผลให้ภาคธุรกิจเกิดการชะลอตัวตามไปด้วย

“ไฟแนนซ์รถใหญ่จะใช้เวลาพิจารณาการอนุมัตินานกว่าเดิม เพราะสถาบันการเงินต้องป้องกันหนี้เสียจากความไม่เสถียรของภาคธุรกิจ ตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งที่เป็นลูกค้าของเรามีออเดอร์สั่งซื้อรถหัวลาก และหางลาก รวมแล้วมีราคาอยู่ที่ 7 ล้าน/คัน แล้วซื้อจำนวน 40 คัน รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท เดินเรื่องขอสินเชื่อตั้งแต่ต้นปี แต่ต้องใช้เวลาในการอนุมัติและเพิ่งเริ่มส่งมอบรถได้ในเดือนตุลาคม เป็นต้น” คุณกฤษณะ กล่าว

คาดถึงสิ้นปีมียอดขายไม่ต่ำกว่า 600 คัน

คุณกฤษณะ กล่าวต่อว่า ในช่วงปี 2566 นี้ ยอดขาย 9 เดือนที่ผ่านมา CP FOTON มียอดขายแล้วรวม 310 คัน คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 600 คัน โดยปัจจุบันจำแนกเป็นยอดขายจากประเภทรถสันดาป 50% และรถพลังงานไฟฟ้าอีก 50%

สำหรับรถบรรทุกไฟฟ้าของ CP FOTON  ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน คือ TM iBlue 45 เพราะคุณสมบัติโดดเด่น ใช้งานง่าย ลดค่าน้ำมันได้เยอะ สามารถนำไปต่อยอดเชิงภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการเรื่องใช้พลังงานสะอาด และช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นได้

ส่วนรถเครื่องยนต์สันดาปจะเป็น AUMARK FLEX ที่เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก เพราะมีดีไซน์ล่าสุดทันสมัยแบบยุโรป และยังสามารถใช้เพียงใบขับขี่ส่วนบุคคล โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ที่สำคัญยังไม่ติดเวลาทำให้การขนส่งรวดเร็วขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีออเดอร์รถหัวลากที่จะเริ่มมีการส่งมอบในช่วงไตรมาสนี้อีกไม่ต่ำกว่า 40 คัน

ยืนหนึ่งผู้นำรถบรรทุกไฟฟ้า เร่งพัฒนาด้านบริการ

สำหรับเป้ายอดขายในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าไว้ประมาณ 1,000 คัน เนื่องจาก CP FOTON มีความแข็งแกร่งด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ และมีตัวแทนจำหน่ายที่มีความพร้อม รวมทั้งยังมุ่งสร้าง Supplier support ให้ลูกค้า และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าได้เข้าถึงไฟแนนซ์ได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยให้ CP FOTON สามารถทำตามเป้าที่ตั้งเอาไว้ได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้ ในปี 2566 นี้ จะเห็นได้ว่า CP FOTON มีภาพลักษณ์การเป็นผู้นำอันดับ 1 ของรถบรรทุกไฟฟ้า ชัดเจนได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ในปี 2567 ที่จะถึงนี้ จึงต้องเร่งพัฒนากลยุทธ์ในการพัฒนาบริการให้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีแบรนด์คู่แข่งอื่นเข้ามาทำตลาดตามหลายเจ้า ซึ่งจะทำให้ CP FOTON ยังคงรักษาความเป็นเจ้าตลาดของรถเพื่อการพาณิชย์พลังงานไฟฟ้า

“เรามีความมั่นใจว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นไปได้อย่างแน่นอน เนื่องจาก CP FOTON  มีการวางแผนไว้อย่างรอบด้านเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้นำรถบรรทุกไฟฟ้า ทั้งยังมีเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในระดับใกล้เคียงกัน” คุณกฤษณะ กล่าว

ปี 67 พร้อมรุกตลาดเต็มสูบ

คุณกฤษณะ กล่าวต่อว่าในปี 2567 เป็นปีที่พร้อมในการทำตลาดสูงมาก ทั้งโรงงาน เครือข่ายผู้แทนจำหน่าย และจำนวนลูกค้าที่ขยายฐานเพิ่มขึ้น วัดได้จากกลุ่มฟลีทที่สั่งซื้อรถเพิ่มเติมหลายสิบคัน มั่นใจว่าจะเติบโต เป็น Top3 ในตลาดรถบรรทุกด้วยกลยุทธ์ 3 ด้าน คือ 1.การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ต่อเนื่อง  2.งานบริหารเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย และ 3.งานพัฒนาบริการหลังการขาย และบริการอะไหล่

โดยในช่วงไตรมาสที่ 3-4 จะเน้นการทำตลาดในพื้นที่ขายที่มีดีลเลอร์ตั้งอยู่ และไม่แข่งเรื่องราคา พร้อมทั้งมีการทำตลาด 3 แนวทาง คือ อีเว้นท์ภาคธุรกิจ, Local activity และ Focus Group เจาะกลุ่มเป้าหมายแบบเคาะประตูขาย มุ่งเน้นการนำเสนอเชิงเทคนิค เพื่อการทำธุรกิจ

ที่สำคัญ ในปี 2567 ยังคงรักษามาตรฐานและมุ่งยกระดับด้านการบริการ เพื่อตอกย้ำความเป็น The Future of Truck ให้ชัดเจนขึ้น พร้อมทั้งนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนารถบรรทุก ให้ตอบโจทย์การใช้งาน และมีความคุ้มค่าสูงสุด

ขณะที่เทรนด์การใช้รถไฟฟ้าตนมองว่า มีแนวโน้มแข่งขันสูงขึ้นอยู่แล้ว แต่จะอยู่ในกลุ่มรถบรรทุกขนาดเล็ก และรถบรรทุก 4 ล้อ ที่ยื่นขอจดทะเบียนรถยนต์บริการ เนื่องจากเป็นรถที่มีพื้นที่ขนส่งในเมือง (Urban transport) มีระยะการชาร์จที่แน่นอน

“เมื่อไม่นานมานี้ เราได้ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เป็นลูกค้ารรายใหญ่ สั่งซื้อรถรุ่น TM iBlue 45 ที่เป็นรถบรรทุกไฟฟ้า 100% ขนาด 4 ล้อ และมีคาดการณ์ยอดสั่งซื้อปีหน้าเกือบ 100 คัน เนื่องจากมีนโยบายด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะเปลี่ยนรถกระบะ เป็นรถพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด” คุณกฤษณะ กล่าว

พิธีส่งมอบรถบรรทุกไฟฟ้า รุ่น TM iBlue 45 ล็อตแรกเพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ ของบริษัทฯ ณ โรงงานปูนซีเมนต์ทีพีไอ โพลีน อ. มวกเหล็ก จ.สระบุรี

ใช้กลยุทธ์การแข่งขันด้วย One Stop Service

CP FOTON มีแผน Support ผู้ประกอบการ คือ ซื้อรถแล้วพ่วงรับตู้ห้องเย็นสำหรับรถกระบะ และรถบรรทุก เพื่อเตรียมวิ่งงาน เสมือนเป็น One Stop Service ให้ลูกค้า แล้วยังมีระบบติดตามการใช้งาน, ระบบ IOT เชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต, ระบบ OBD II เครื่องมือที่ใช้วิเคราะห์ความผิดพลาดของเครื่องยนต์จาก ECU และแจ้งข้อมูลให้ทราบทางหน้าจอ

“เรามีโซลูชั่นครบวงจร นำเสนอให้ลูกค้าที่ซื้อรถพลังงานไฟฟ้าได้ติดตั้งเพิ่มเพื่อการใช้งาน สอดคล้องกับระบบรถไฟฟ้า ที่เน้นการทำงานของกล่องควบคุมคอมพิวเตอร์เป็นหลักอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้า ฟลีท ที่เรามีโปรแกรมแบบนี้รองรับ”

คุณกฤษณะ กล่าวต่อว่า สำหรับการ Support กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อยที่ใช้รถพลังงานไฟฟ้า เรามีซัพพลายเออร์ต่อตู้ขนส่งสำหรับรถกระบะให้ลูกค้าเลือกซื้ออยู่แล้ว ส่วนซัพพลายเออร์ต่อตู้ห้องเย็น ขณะนี้ยังอยู่ในกระบวนการคัดเลือกและจัดหา รวมทั้งทดสอบคุณภาพ เนื่องจากเมืองไทยยังไม่เคยมีเจ้าไหนทำกับรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า มีเพียงระบบที่ต่อกับเครื่องยนต์สันดาป

ผู้ประกอบการขนส่งประเภทตู้เย็นจำนวนมากสนใจรถบรรทุกไฟฟ้า TM iBlue 45 เนื่องด้วยต้องการการลดต้นทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิง แต่เนื่องจากต้นทุนในการต่อตู้เย็นมีราคาค่อนข้างสูง เลยหันไปใช้รถตู้จากแบรนด์อื่น แต่เมื่อนำมาใช้งานแล้วอัตราความเย็นจาก Freezer หรือ ตู้แช่แข็งก็ไม่รองรับอยู่ดี

ดังนั้น CP FOTON จึงน่าจะเป็นเจ้าแรก ที่พัฒนาตู้ห้องเย็นสำหรับงานขนส่งควบคุมอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับการใช้งานของตลาด ซึ่งภายในปลายปี 2566 นี้จะมีรถออกมาให้เห็น สำหรับ รถบรรทุกไฟฟ้า รุ่น TM iBlue 45 และ รุ่น  Aumark iBlue 85

จุดเด่นของ CP FOTON ต่างจากค่ายอื่นอย่างไร?

สำหรับจุดเด่นของ CP FOTON คือ ทำครบวงจรทั้ง การขาย การดูแลบริการหลังการขาย งานด้านเทคนิค และงานอะไหล่ทั้งหมด ซึ่งค่ายรถจีนแบรนด์อื่น ๆ ยังไม่มี โดยที่ผ่านมา 5 ปี ของการทำตลาดถือว่าแบรนด์ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง ขณะเดียวกัน ยังมีจุดแข็งในการทำตลาดเมืองไทย เพราะ CP FOTON มีรูปแบบธุรกิจแบบยั่งยืน มีเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวางและมั่นคง

“เราไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนางานบริการหลังการขาย และเรื่องการเตรียมความพร้อมของอะไหล่ ซึ่งเรามองว่าเราเดินมาถูกทาง แต่ต้องสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอีก และยังต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเพิ่มฟีเจอร์การใช้งาน ที่สามารถตอบโจทย์กับคนขับมากขึ้น เพื่อสร้างความคุ้มค่าให้กับลูกค้ามากที่สุด

ซึ่งปัจจุบันเรามีลูกค้าที่เลือกใช้รถบรรทุกหัวลาก ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนส่งจากไทยไปจีน ด้วยความเชื่อมั่นในมาตรฐาน FOTON ที่โดดเด่นเรื่องการวิ่งทางไกล และมีการคัดสรรพาทเนอร์ ร่วมผลิต ระดับ Best in Class อย่าง Cummins / ZF ส่วนการพัฒนาดีไซน์รถไฟฟ้า ยังคงความเป็นแบรนด์จีนชัดเจน แต่คาดว่าในอนาคตจะมีการปรับให้ทันสมัย สอดรับกับความนิยมของตลาดมากขึ้น”

ชูความพร้อมดีลเลอร์ และงานบริการหลังการขาย

ปัจจุบัน CP FOTON มีดีลเลอร์ 40% จาก 20 ราย ทำยอดขายได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ในครึ่งปีแรก โดยด้านบริการหลังการขายเราจะมีตาราง Maintenance ทั้งรถสันดาปและรถพลังงานไฟฟ้าแจ้งลูกค้าให้ทราบขณะเดียวกัน ยังเร่งปรับมาตรฐานผู้แทนจำหน่าย ให้โดยทุกดีลเลอร์จะมี 3S คือ มีโชว์รูมเพื่อจำหน่าย มีศูนย์บริการ และมีโกดังสต็อกอะไหล่

ส่วนในปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีผู้แทนจำหน่าย ทั้งประเทศ รวม 25 แห่ง (ไม่รวม Service Network) ขณะที่ไตรมาส 4/2566 ไปจนถึงปีหน้า CP FOTON ตั้งใจเจาะตลาดภาคเหนือ และภาคใต้ ดังนี้

โซนภาคใต้ : จังหวัดสุราษฎร์  นครศรีธรรมราช และหาดใหญ่  ขณะนี้อยู่ในระหว่างก่อสร้างและเตรียมเปิดตัว ซึ่งแต่ละที่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถบรรทุก มีความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุง หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นสำคัญ

โซนภาคเหนือ : ในพื้นที่นครสวรรค์ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทำตลาด เพื่อเปิดรับและคัดเลือกผู้แทนจำหน่ายเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โดยหลักการเลือกผู้แทนจำหน่าย คือ ต้องมีความเชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุง มีศักยภาพในการให้บริการลูกค้าตามที่มาตรฐานกำหนด เพราะ CP FOTON มีความตั้งใจให้ความแข็งแกร่งของงานบริการหลังการขายเป็นจุดเด่นที่ทำให้แบรนด์ต่างจากคู่แข่ง ในการทำตลาดรถพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากลูกค้ายังไม่มีความชำนาญมากพอ จุดนี้จะสร้างความเชื่อมั่นในระยะเวลาอันรวดเร็ว

แนะลูกค้าที่ต้องนำรถบรรทุกไฟฟ้าไปใช้ในธุรกิจ

ลูกค้าที่ใช้รถบรรทุกไฟฟ้า จะต้องมีการคำนวณระยะวิ่งเพื่อวางระบบการพักชาร์จ ที่เหมาะสมกับธุรกิจ ก่อนสั่งซื้อ ซึ่งในอนาคตเราจะมีแอปช่วยคำนวณต้นทุนในการดำเนินงาน หรือแอปแจ้งเตือนการชาร์จ ให้แก่ผู้ใช้รถ โดยจะเป็นการคำนวณจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ ระยะวิ่ง น้ำหนักบรรทุก ประกอบร่วมกัน

ส่วนระยะเวลาในการรับประกันแบตเตอรี่รถบรรทุกไฟฟ้า CP FOTON จะรับประกันนานถึง 5 ปี  แม้ลูกค้าอาจมีความกังวลเรื่องราคาเปลี่ยนแบตเตอรี่อยู่บ้าง แต่คาดว่าในอนาคตจะมีแนวโน้มที่ราคาถูกลงอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ เนื่องจาก CP FOTON เป็นผู้เปิดตลาดรถบรรทุกไฟฟ้าครบวงจรเจ้าแรก ๆ จึงมีความเชี่ยวชาญ ด้านเทคนิคและซ่อมบำรุงเป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ ยังเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับทีมช่างของดีลเลอร์ และต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐานงานซ่อมเป็นอย่างมากด้วย เช่น การสั่งซื้อชุดเครื่องมือต่าง ๆ ต้องเป็นเฉพาะทางสำหรับระบบของรถพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ เป็นต้น

Advertisement