ในอดีตสถานประกอบการต้องการคนที่มีความรู้ 80 ทักษะประสบการณ์ 20 แต่ปัจจุบันสถานประกอบการจะมีแนวคิดที่เปลี่ยนไปคือทักษะ 70% ความรู้ 30% โดยมีการสัมภาษณ์ให้หนักขึ้น เพื่อให้รู้ว่าผู้มาสมัครงานมีความรู้จริงมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากไม่ทราบว่ากระบวนการ Metrology นั้น มีการวัด วิเคราะห์ การทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจริงที่สามารถอ้างอิงการวัดเหล่านั้นในสถาบันการศึกษามีมากน้อยแค่ไหนในการให้ความรู้ก่อนเข้ามาฝึกงานหรือเข้ามาทดลองงาน ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนต้องการเด็กที่พร้อมจะทำงาน นอกจาก ความรู้ ทักษะแล้วก็ต้องดูเรื่องจิตใจ ภาวะอารมณ์ด้วย นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญในยุคนี้ เด็กบางคนเก่ง แต่เมื่อถึงเวลาทำงานไม่ประสบความสำเร็จ เข้าทำงานร่วมกับทีมไม่ได้ เพราะงาน Logistics หรือ Supply Chain ต้องการการทำงานที่เป็นทีมเวิร์คอย่างมาก แต่การรับเด็กเก่งเดี่ยวเข้ามา แต่ไม่สามารถทำงานร่วมกับทีมงานได้ จากที่คาดว่าผลลัพธ์จะอออกมาดี จะกลับเป็นการทำลายทีมได้เลย
ขณะเดียวกันเด็กบางคนผลการเรียนไม่ได้ดีเด่น แต่มีการได้ไปฝึกทักษะฝึกงาน หาประสบการณ์ มีจดหมายรับรองจากสถานประกอบการที่น่าเชื่อถือ หรือบางครั้งสถานประกอบการนั้นๆ รับเด็กเข้าไว้ทำงานเลยก็มี ซึ่งเด็กเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการอยากได้ ดังนั้น การรับนักศึกษาเข้ามาฝึกงานควรรับเข้ามาเท่าที่จะรับได้ ซึ่งทางสถาบันการศึกษาก็ได้สรรหาบริษัทเพื่อให้เด็กได้เข้าไปฝึกงานกับสถานประกอบการ แต่บางแห่งไม่รับเด็กเข้าไปฝึกงานยังคงมีแนวคิดแบบเก่าว่าคือ เสียเวลาในการทำงานหรือเพิ่มภาระในการทำงาน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการไม่ยุติธรรม เพราะเด็กต้องการเวทีในการฝึกงาน ฝึกความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ก็อยากให้สถานประกอบการรับเด็กเข้าไปฝึกงาน
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ส่วนใหญ่แล้ว เด็กมักจะเลือกที่จะฝึกงานกับบริษัทใหญ่ ๆ มีชื่อเสียง แต่หากคิดกลับกัน ถ้าไปฝึกงานในบริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีระบบ มีปัญหามากมาย แต่อยากได้ความคิดใหม่ เด็กรุ่นใหม่ เพราะบริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีระบบนั้นจะทำให้เราทำงานหนักเกิดความคิดว่าปัญหาของเขาคืออะไร จะช่วยเขาได้อย่างไร และการฝึกงานที่บริษัทเล็กๆ จะเห็นกระบวนการทำงานทุกอย่าง ต้องทำทุกอย่าง และจะได้อะไรมากมายจากการทำงานในบริษัทเล็กๆ แต่อาจจะดูไม่เท่ห์เท่ากับการฝึกงานในบริษัทใหญ่ๆ ที่อาจไม่ได้ใส่ใจตัวเด็กฝึกงาน ซึ่งงานที่ได้รับมอบหมายนั้นอาจจะเป็นเพียงแค่เด็กชงกาแฟ วิ่งถ่ายเอกสาร ประสานงานระหว่างฝ่าย จัดห้องรับรองห้องประชุม คีย์ข้อมูลเข้าระบบ เป็นต้น ซึ่งก็ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาสมรรถนะบุคลากรโลจิสติกส์
ในธุรกิจโลจิสติกส์นั้นนอกจากการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังมีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมแข่งขันด้วย ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันผู้ประกอบการในช่วงนี้นิยมใช้ Kerry ของฮ่องกง ที่เปิดตัวด้วยการ Door to Door Service และมีบริการอื่นๆ ตามมา ซึ่งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด มีสาขามากมาย ที่น่าสนใจคือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จะเลือกใช้บริการ Outsources เป็นส่วนใหญ่ โดยจะถือสินทรัพย์ให้น้อยแต่ลงทุนกับระบบเทคโนโลยีให้มาก เพราะสิ่งเหล่านี้คือความสามารถในการแข่งขัน ยิ่งองค์กรไหนที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากๆ โดยมีจำนวนพนักงานเพียงแค่ 5-6 คน ก็จะยิ่งดูดีมีศักยภาพทางการแข่งขัน หรือการบริหารคลังสินค้าที่ว่าต้องใช้คนจำนวนมาก สมัยนี้ก็ไม่จำเป็นถึงขนาดนั้น เพราะลงทุนกับเทคโนโลยีแล้วปรับให้เป็น auto made โดยใช้มนุษย์เป็นผู้ควบคุมเท่านั้น ซึ่งการทำงาน logistics สมัยนี้ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก ถ้าหากมี multi skill มากพอ
อีกทั้งการเปิดเสรีทางการค้าทำให้ประเทศต่างทยอยเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นต้น การแข่งขันแย่งชิงบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะและความสามารถก็โดนแย่งไปด้วย เพราะเปิดเสรีทางการค้าผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศต่างก็จะต้องการกำลังคนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ถ้าวันนี้เด็กไทยยังไม่ตระหนักถึงการเพิ่มความรู้ ความสามารถ และทักษะ แต่ขณะที่เด็ก จีน ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม ตั้งใจเรียนอย่างหนักทั้งในและนอกห้องเรียน ในฐานะถ้าเป็นผู้ประกอบการจะเลือกอย่างไร ถ้ามีเด็กไทยกับเด็กต่างประเทศมาสมัครงาน บุคลิก วินัย วิธีคิดที่แตกต่างกัน ถึงต่อให้รักเด็กไทยแทบตาย สุดท้ายก็ต้องเลือกเด็กต่างประเทศอยู่ดี เพราะธุรกิจคือการแข่งขันและปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในธุรกิจก็คือ ”คนในองค์กร” ไม่ใช่ระบบที่วาง เทคโนโลยีที่จะใช้ภายในองค์กร
ณ วันนี้ เรื่องมาตรฐานความรู้กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับนักศึกษาที่เรียนจบปริญญาตรี ถ้าท่านเป็นนักศึกษาที่กำลังจะจบและหางานทำและต้องการทำงานในองค์กรที่ดี จะต้องดูว่าตัวเองมีคุณลักษณะเฉพาะ (Unique) ที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างไร เพราะองค์กรสมัยนี้เลือกคน ไม่ใช่คนเลือกองค์กร สืบเนื่องจากลูกค้าที่ไม่มีความจงรักภักดีต่อตรายี่ห้อ (Brand Royalty) ซึ่งลูกค้าจะคิดว่า ใครบริหารจัดหารให้เขาดีกว่า ทำให้ชีวิตเขาดีกว่า ประหยัดกว่า เขาก็เลือกใช้บริการกับบริษัทนั้น ดังนั้น เป้าหมายของผู้ประกอบการคือต้องการคนทำงานเป็นแก้ไขปัญหาได้ ไม่ใช่คนที่รู้มาก และผู้บริหารองค์กรเกี่ยวกับโลจิสติกส์มักจะเลือกคนทำงานที่มาจากสายอาชีวะศึกษามากกว่าเรียนจบปริญญาตรีที่เน้นลงมือปฏิบัติมากกว่ามีความรู้แล้วปฏิบัติไม่ได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าโลกธุรกิจมีพลวัตรการเปลี่ยนแปลงไปมาก ดังนั้น กระบวนการหล่อหลอมบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาจะไม่ใช่แค่ผลิตบุคลากรตามความต้องการของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่หลักสูตรและระบบการศึกษาควรเปลี่ยนได้เร็วพอๆ กับระบบธุรกิจ และพลวัตการทำงานของธุรกิจ ส่วนสถานประกอบการก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดการเรียนรู้ที่จะเปิดโอกาสรับเด็กรุ่นใหม่เข้ามาฝึกงานและวางระบบพี่เลี้ยงเพื่อเติมเต็มศักยภาพบุคลากรให้กับธุรกิจ รวมถึงนักศึกษาก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดการเรียนรู้แบบใหม่ไม่ใช่ทุกคนต่างมุ่งมีใบ Transcript ก็เพียงพอ แต่ต้องผ่านการทดสอบทักษะแล้วได้ใบรับรองระบบคุณวุฒิวิชาชีพก็จะทำให้เกิดความได้เปรียบ อนึ่ง ถ้าไม่พัฒนาทั้งสามส่วนอย่างเป็นระบบแล้ว ในอนาคตเราอาจจะเห็นคนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนมาจ้างคนไทยทำงานโดยใช้แรงงานอย่างเดียวแบบคนสปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา
โดย…ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี